Posts tagged ‘องค์ประกัน’

December 18, 2010

Case Study from outside Laos: จากเวียงจันทน์ ถึงบางกอก ตามรอยเจ้าอนุวงศ์ คลี่ปมประวัติศาสตร์ไทย-ลาว – Update: 02

เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : บุญกิจ สุทธิญาณานนท

This article comes from Sarakadee สารคดี
http://www.sarakadee.com/web

The URL for this story is:
http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=932

——-

สารคดีเรื่องนี้ จัดทำขึ้นภายใต้โครงการทุนสำหรับสื่อของ Imaging Our Mekong (www.newsmekong.org) ดำเนินการโดย ไอพีเอส เอเชียแปซิฟิก และมูลนิธิโพรบมีเดีย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์

“พุทธ ศักราช ๒๓๖๙ เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ เป็นกบฏต่อกรุงเทพมหานคร ยกกองทัพเข้ามายึดเมืองนครราชสีมา… ไปถึงทุ่งสำริด ท่านผู้หญิงโมรวบรวมกำลังหญิงชายเข้าต่อสู้อย่างตะลุมบอน กองทหารเวียงจันทน์แตกพินาศ เจ้าอนุวงศ์ถอยทัพกลับ ในที่สุดกองทัพไทยยกตามไปปราบจับตัวเจ้าอนุวงศ์ได้ ท่านผู้หญิงผู้กล้าหาญได้นามว่าเป็นวีระสตรี…ปรากฏในพงษาวดารมาจนทุก วันนี้”

จารึกด้านข้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี
จังหวัดนครราชสีมา

“เจ้าอนุวงศ์…ใคร กษัตริย์สมัยไหน ของอาณาจักรไหน”

“ไม่เคยได้ยิน กษัตริย์ประเทศไหน”

“คุ้น ๆ…เหมือนเคยได้ยินแว่ว ๆ”

เมื่อลองสุ่มถามคนรอบตัวเรื่องเจ้าอนุวงศ์ ผลที่ได้ล้วนออกมาในทำนองเดียวกันข้างต้น

คน ไทยน้อยคนนักจะรู้จักกษัตริย์ผู้มีพระนามว่า “เจ้าอนุวงศ์” และส่วนมากก็มักรู้เพียงรายละเอียดอันมีต้นเค้ามาจากข้อความบนป้าย ข้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองโคราช หรือไม่ก็จากแบบเรียนสมัยมัธยมต้น

ที่ น่าสนใจคือ หลายคนยังเล่าถึง “วีรกรรมที่ทุ่งสัมฤทธิ์” เหตุจลาจลของครัวโคราชที่ลุกฮือขึ้นต่อต้านทหารลาวได้ตรงกัน ทั้งยังมีตัวละครเพิ่มเข้ามาคือ “นางสาวบุญเหลือ” ซึ่งว่ากันว่าเป็นมือขวาของท้าวสุรนารี โดยในทัศนะของพวกเขา ท้าวสุรนารีหรือ “ย่าโม” เป็น “วีรสตรี” คนสำคัญของไทย ส่วนเจ้าอนุวงศ์เป็นเจ้าลาวที่ “กบฏ”

นี่ คือบทสรุปของ “ศึกเจ้าอนุวงศ์” บนที่ราบสูงภาคอีสานเมื่อกว่า ๑๘๐ ปีก่อนที่คนไทยยุคปัจจุบันรับรู้ หากเทียบกับวีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาก่อนหน้า ถึงเกือบ ๔๐๐ ปี ก็น่าประหลาดใจว่าเรื่องของเจ้าอนุวงศ์และการศึกในครั้งนั้นกลับกลายเป็น ความทรงจำที่เลือนรางเสียยิ่งกว่า

ผมเองก็ไม่ต่างจากคนไทยทั่วไปที่รับรู้เรื่องนี้มาตั้งแต่เด็ก และไม่เคยตั้งข้อสงสัย

จน ช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา เมื่อได้ยินข่าวว่านายทุนและผู้กำกับไทยคนหนึ่งมีโครงการจะสร้างภาพยนตร์ ฟอร์มยักษ์เรื่อง “วีรกรรมท้าวสุรนารี” ข่าวการกระทบกระทั่งระหว่างไทย-ลาวก็ปรากฏ ยังไม่นับการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ ๒๔ ปี ๒๕๕๑ ที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งนักประวัติศาสตร์ไทยบางท่านออกมาเตือนว่าไม่ควรนำเรื่องวีรกรรมที่ทุ่ง สัมฤทธิ์มาแสดงในพิธีเปิด ถ้าไม่อยากให้เกิดความขุ่นข้องหมองใจกับเพื่อนบ้าน

เมื่อ เร็ว ๆ นี้ผมยิ่งแปลกใจมากขึ้นอีกเมื่อได้อ่านแบบเรียนชั้นประถมฯ มัธยมฯ และหนังสือประวัติศาสตร์ที่วางขายในลาว แล้วพบว่าเจ้าอนุวงศ์คือ “มหาราช” คือ “วีรกษัตริย์” ผู้พยายามกู้ชาติ แถมยังมีบทตอบโต้วีรกรรมย่าโมอย่างเผ็ดร้อน

ทำไม เจ้าอนุวงศ์ถึงเป็น “กบฏ” ในประวัติศาสตร์ไทย–ทำไมลาวจึงมองเรื่องนี้ต่างออกไป–เจ้าอนุวงศ์คือใคร ตัวตนในประวัติศาสตร์ที่แท้แล้วเป็นอย่างไร–เกิดอะไรขึ้นบนที่ราบสูงภาค อีสานระหว่างพุทธศักราช ๒๓๖๙-๒๓๗๑–ทำไมประเด็นนี้จึงละเอียดอ่อนนัก

ต่อ ไปนี้คือส่วนหนึ่งของ “คำตอบ” ที่ผมได้พบจากการเดินทางลงพื้นที่และค้นหาข้อมูลคำตอบซึ่งอาจเป็น “บทสนทนาทางประวัติศาสตร์ที่พิลึกพิลั่นที่สุด” ระหว่างไทย-ลาวอันต่อเนื่องยาวนานจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

พระ ืที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาทบนกำแพงพระบรมมหาราชวังฝั่งตะวันออกริมถนนมหาไชย พงศาวดารไทยและลาวระบุตรงกันว่าลานหน้าพระที่นั่งแห่งนี้ ครั้งหนึ่งเป้นจุดที่เจ้าอนุึวงศ์ถูกสำเร็จโทษ



ภาพลาย เส้นดัดแปลงจากภาพวาดเจาอนุวงศ์ในจินตนาการของ คำฮุ่ง ผาบักคำ ศิลปินลาว เผยแพร่โดยกระทรวงศึกษาธิการลาว สมัยที่ยังปกครองระบอบประชาธิปไตย (ก่อนปฏิวัติปี ๒๕๑๘ นักประวัติศาสตร์เรียกช่วงนี้ว่า “สมัยรัฐบาลพระราชอาณาจักร”)

ใน ภาพเป็นซากกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกของเวียงจันทน์ ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และมีร้านเหล้าชื่อ "กำแพงเวียงจันทน์โบราณ" เปิดบริการนักท่องเที่ยว


เจ้าอนุวงศ์ “พระนเรศวร” เวอร์ชันลาว

ไม่ ว่าคนไทยจะรับได้หรือไม่ก็ตาม กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้างร่มขาวเวียงจันทน์องค์สุดท้ายพระองค์นี้มีพระ ราชประวัติไม่ต่างกับพระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

แม้ ทั้ง ๒ พระองค์จะดำรงพระชนม์ชีพต่างยุคต่างสมัย แต่ในแง่ประวัติศาสตร์ ยุคสมัยของทั้งสมเด็จพระนเรศวรและเจ้าอนุวงศ์ล้วนเป็นยุคซึ่งสิ่งที่เรียก ว่า “ประเทศ” หรือ “รัฐชาติ” (Nation State) ยังไม่อุบัติขึ้น

เป็นยุคที่การรบเป็นสงครามระหว่าง “กษัตริย์” กับ “กษัตริย์” มิใช่สงครามระหว่าง “ประเทศ” กับ “ประเทศ”

“ยุค นั้นความคิดเรื่อง ‘รัฐชาติลาว’ กับ ‘รัฐชาติไทย’ ยังไม่เกิด ผู้นำทั้งสองฝ่ายไม่มีสำนึกเรื่องนี้ สงครามระหว่าง ‘กรุงเทพฯ’ ของรัชกาลที่ ๓ กับ ‘เวียงจันทน์’ ของเจ้าอนุวงศ์ ไม่ต่างกับสงครามระหว่างอยุธยากับพิษณุโลกก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๑ ในปี ๒๑๑๒” ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ฉายแนวคิดเบื้องหลังของสงครามในครั้ง นั้น

ส่วน เรื่อง “เอกราช” ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ไว้ว่า ” ‘เอกราช’ ของอาณาจักรสมัยโบราณต่างกับ ‘เอกราช’ ของ ‘รัฐชาติ’ สมัยนี้ สมัยโบราณมีเมือง ‘เอกราช’ กับ ‘ประเทศราช’ เมืองเอกราชไม่ต้องส่งบรรณาการไม่ต้องถูกกวาดต้อนแรงงาน ในขณะที่เมืองประเทศราชนั้นต้องทำสิ่งเหล่านี้”

ทั้ง นี้ ดร. ธงชัย วินิจจะกูล นักประวัติศาสตร์และอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน สหรัฐอเมริกายังเคยเสนอว่า กษัตริย์บนแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์ยุคนั้นมีแนวคิด “จักรพรรดิราช” หรือการเป็น “ราชาเหนือราชา” ที่รับมาจากพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์ผู้มีศรัทธาในพุทธศาสนาแห่งชมพูทวีป (อินเดีย) โดยจักรพรรดิราชต้องมีรัตนะ (สมบัติ) ๗ ประการที่เกิดจากบุญบารมี คือ
จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว มณีแก้ว นางแก้ว ขุนคลังแก้ว และขุนพลแก้ว เมื่อมีครบแล้วพระองค์ก็จะแผ่ขยายอำนาจผ่านการขอพระราชธิดาในกษัตริย์ต่าง เมืองเป็นพระมเหสีขอช้างเผือก ทำศึก เป็นต้น อันเป็นที่มาของพระเกียรติยศและทรัพยากรต่าง ๆ ที่จะเรียกเอาได้ในภายหลัง แต่มิได้มีความคิดเรื่องอธิปไตยเหนือดินแดนทุกตารางนิ้วแต่อย่างใด

แปลง แนวคิดนี้เป็นสมการ ใส่ “เวียงจันทน์” กับ “กรุงเทพฯ” เข้าไป มันจึงไม่เกี่ยวพันกับ “ไทย” และ “ลาว” ในฐานะ “รัฐชาติ” สมัยนี้แต่อย่างใด

พุทธศักราช ๒๓๑๐ ขณะอยุธยาถูกเผาวอดเป็นเถ้าถ่านในสงครามคราวเสียกรุงครั้งที่ ๒

ที่ เวียงจันทน์ พระราชโอรสองค์ที่ ๓ ในพระเจ้าสิริบุญสารแห่งอาณาจักรล้านช้างร่มขาวเวียงจันทน์เสด็จพระราชสมภพ มีพระนามว่า เจ้าอนุวงศ์

ทว่า ถึงปี ๒๓๒๒ เจ้าอนุวงศ์ซึ่งเจริญพระชนมายุได้ ๑๒ พรรษาก็ต้องพลัดบ้านพลัดเมืองมาประทับที่กรุงธนบุรี ด้วยเหตุที่พระเจ้าสิริบุญสารเกิดขัดแย้งกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เนื่องจากเวียงจันทน์ไปติดต่อกับอาณาจักรอังวะ ทั้งยังเกิดกรณีเวียงจันทน์ยกทัพติดตามมาโจมตีทัพของพระวรปิตา (บางสำนักว่า พระวอพระตา) ซึ่งมาสวามิภักดิ์กรุงธนบุรี

พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)ซึ่งแต่งในยุคนั้นเล่าว่า “พระเจ้ากษัตริย์ศึก” (เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ต่อมาปราบดาภิเษกเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี) เป็นผู้ยกทัพไปตีเวียงจันทน์ซึ่งยุคนั้นมีสภาพเป็นเมืองอกแตกครอบคลุมสอง ฝั่งแม่น้ำโขง โดยตัวเมืองเวียงจันทน์อยู่ฝั่งน้ำด้านเหนือ ฝั่งทิศใต้คือเมืองพันพร้าวอันถือเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญ ถัดมาทางตะวันออกของเวียงจันทน์ยังมีเมืองทรายฟองซึ่งตั้งอยู่ตรงข้าม หนองคายและเวียงคุก

ร่อง รอยเมืองโบราณเหล่านี้หลงเหลือมาถึงปัจจุบันในลักษณะซากโบสถ์เจดีย์เก่า กระจายตัวเป็นวงกว้าง ในเขตประเทศไทยพบได้ที่อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย

ประวัติศาสตร์ลาว ฉบับมหาสิลา วีระวงส์ ซึ่งเขียนเสร็จในปี ๒๔๙๖ ตีพิมพ์ครั้งแรกปี ๒๔๙๙ ในชื่อ พงศาวดารลาว และเป็นประวัติศาสตร์ฉบับที่ทางการลาวเชื่อถือ บันทึกว่าการศึกเป็นไปอย่างดุเดือด โดยระหว่างโจมตีเมือง ทัพสยามโหดถึงขั้น

“เอา ราษฎรเมืองหนองคายจำนวนมากมาตัดคอ เอาแต่หัวใส่ในเรือจนเต็ม แล้วให้ผู้หญิงเมืองหนองคายพายเรือขึ้นมาร้องขายอยู่แถวท่าเมืองพะโคและ เวียงคุก” ทั้งยังได้รับความร่วมมือจากกองทัพหลวงพระบางที่มาตีกระหนาบจนเวียงจันทน์ แตก ถือเป็นการเสียกรุงเวียงจันทน์ต่อทัพสยามครั้งที่ ๑

ถึง จะเป็นหลักฐานชั้นรอง แต่มีความเป็นไปได้ว่าการกระทำของทัพสยามในปี ๒๓๒๒ นั้นไม่ต่างกับทัพหงสาวดีที่ยกมาตีอยุธยาในปี ๒๑๑๒ (รัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระอัยกาในสมเด็จพระนเรศวร) โดยหลังตีเวียงจันทน์แตกก็เก็บกวาดทรัพย์สิน กวาดต้อนครัวลาว พร้อมอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญคือพระแก้วมรกตมาประดิษฐานยังกรุงธนบุรี แน่นอนว่ารวมถึงการเชิญพระญาติวงศ์และพระราชโอรสในพระเจ้าสิริบุญสารมา เป็น”องค์ประกัน” ด้วย

เจ้าอนุวงศ์ขณะทรงพระเยาว์น่าจะทรงรับรู้เรื่องเหล่านี้ดีขณะเป็น “องค์ประกัน” ในราชสำนักกรุงธนบุรี

หอ พระแก้วที่นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ในอดีตเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ความทรงจำของคนลาวเกี่ยวกับพระแก้วมรกต ยังตกตะกอนอยู่ในรูปป้ายและคำบรรยายของมัคคุเทศก์บางคนว่า “ปัจจุบันพระแก้วมรกตอยู่ต่างประเทศ”

เสา โบราณอันเป็นส่วนหนึ่งของเวียงคุก เมืองหน้าด่านของเวียงจันทน์ที่ต้องรับศึกจากกองทัพสยามเมื่อปี ๒๓๒๒ ปัจจุบันอยู่ที่วัดยอดแก้ว จ.หนองคาย มีการสร้างโบสถ์ครอบ แต่ยังคงเห็นร่องรอยของเสาอยู่

เจ้า อนุวงศ์ขณะเป็นองค์ประกันประทับที่ “วังบางยี่ขัน” ร่องรอยเดียวที่เหลืออยู่ทุกวันนี้คือแนวกำแพงโบราณทางทิศเหนือของลาน อเนกประสงค์ หน้าสวนสาธารณะใต้ะสพานพระราม ๘

“องค์ประกัน” ในราชสำนักสยาม

แล้วเจ้าอนุวงศ์ประทับแห่งใดเมื่อมาเป็น “องค์ประกัน” ในราชสำนักสยาม ?

สืบ ค้นดูจะพบร่องรอยใน “นิราศวังบางยี่ขัน” ที่แต่งเมื่อปี ๒๔๑๒ (สมัยรัชกาลที่ ๕) โดยคุณพุ่ม กวีสตรีชื่อดังเจ้าของฉายา “บุษบาท่าเรือจ้าง” ซึ่งคุ้นกับเจ้านายเชื้อสายเวียงจันทน์ดี เนื่องจากบิดารับราชการใกล้ชิดพระบาท-สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตัวคุณพุ่มรับราชการในวังหลวงมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓-๔ ได้ฝากตัวอยู่กับเจ้าจอมมารดาดวงคำ เจ้าจอมในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งมีเชื้อสายลาว (มีศักดิ์เป็นพระราชนัดดาในเจ้าอนุวงศ์ มารดาของเจ้าดวงคำเป็นธิดาของเจ้าอุปราชพรหมวงศ์ พระอนุชาในเจ้าอนุวงศ์ที่ถูกกวาดต้อนมาพร้อมกันในปี ๒๓๒๒ ในวัยเยาว์มีนามว่า เจ้าหญิงหนูมั่น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขอเป็นพระสนมเอก พระราชทานนามว่า เจ้าหญิงดวงคำ เมื่อมีพระธิดาก็ได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าจอมมารดาดวงคำ)

นิราศ เรื่องนี้แต่งขึ้นระหว่างตามเสด็จพระองค์เจ้าหญิงนารีรัตนา พระธิดาในเจ้าจอมมารดาดวงคำ และเจ้าจอมประทุม ไปเยี่ยมอาการป่วยของเจ้าจันทรเทพสุริยวงศ์ เจ้าเมืองมุกดาหาร บิดาของเจ้าจอมประทุมซึ่งมีศักดิ์เป็นน้าของเจ้าจอมมารดาดวงคำ ที่บริเวณวังบางยี่ขัน

บท กวีตอนหนึ่งฉายภาพวังเจ้าอนุวงศ์ที่ตั้งอยู่บริเวณบางยี่ขัน ฝั่งธนบุรี ตรงข้ามกับตัวเมืองบางกอก ซึ่งขณะนั้นอยู่ในสภาพทรุดโทรมว่า

“ดูรกเรี้ยวเกี่ยวพันเถาวัลย์วุ่น
เกดพิกุลเลียบอุโลกโศกสาขา
ทุกพุ่มพักหักพังเปนรังกา
เมื่อเจ้าตาย่านกระหม่อม (เจ้าอนุวงศ์-ผู้เขียน) อยู่พร้อมพรัก

บ้านที่สร้างบางยี่ขันท่านมาพัก
ตึกตำหนักหักตกถึงอกไก่
นี่แอบอิงพิงพระเดชประเทศไทย
ยังเปนได้ดูดุ๋พังถึงหลังคา”

จริง ๆ วังบางยี่ขันมีหน้าตาอย่างไร กษัตริย์สยามพระองค์ใดโปรดให้สร้าง หรือเจ้าอนุวงศ์ทรงสร้างเอง ข้อมูลเรื่องนี้ผมค้นไม่พบในเอกสารประวัติศาสตร์ชิ้นอื่น ๆ

แต่ไม่น่าเชื่อว่าวังเก่าเจ้าอนุวงศ์อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากสำนักงาน สารคดี นี้เอง

จาก สะพานผ่านฟ้าลีลาศไปตามถนนราชดำเนินกลาง เลี้ยวซ้ายที่แยก จปร. ข้ามสะพานพระราม ๘ ที่เชิงสะพานฝั่งขวา ร่องรอยของวังเจ้าอนุวงศ์ซ่อนตัวอยู่หน้าชุมชนเล็ก ๆ ชื่อ “บ้านปูน”

“ผมเห็นแนวกำแพงนี้ตั้งแต่เกิด”

อุทิศ อุดมทรัพย์ เจ้าของร้านขายของชำวัย ๖๐ ปี เล่าว่าคนชุมชนบ้านปูนเห็นแนวกำแพงโบราณนี้ตั้งแต่เกิด พร้อมเปิดเผยว่าเมื่อ ๑๔ ปีก่อน แนวกำแพงเก่าซึ่งวางตัวจากทิศตะวันตกสู่ทิศตะวันออกยาวราว ๑๐๐ เมตรหน้าชุมชนนี้เกือบถูกทำลายไปพร้อมกับชุมชนบ้านปูน

“ปลาย ปี ๒๕๓๘ มีโครงการพระราชดำริสร้างสะพานพระราม ๘ เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรระหว่างกรุงเทพฯ กับฝั่งธนบุรี ในหลวงท่านไม่ทรงเจาะจงว่าสร้างตรงไหน ให้ กทม. เลือกพื้นที่เอง ทีแรกจุดก่อสร้างเชิงสะพานฝั่งพระนครอยู่ที่เทเวศร์ แต่พอข้ามมาธนบุรี เชิงสะพานติดบ้านคุณบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น เลยเปลี่ยนพื้นที่จากเชิงสะพานฝั่งพระนครมาเป็นบริเวณใกล้กับธนาคารแห่ง ประเทศไทย (ธปท.) ดังนั้นเชิงสะพานฝั่งธนบุรีก็ต้องเปลี่ยนตำแหน่ง”

ลุง อุทิศกับคนในชุมชนสืบทราบว่า หากยึดตามแผนก่อสร้างของ กทม. ชุมชนบ้านปูนจะหายไปเพราะเชิงสะพานฝั่งธนบุรีทับชุมชนพอดี ทั้งยังมีโครงการทำสวนสาธารณะอีกกว่า ๘๐ ไร่

ความ เคลื่อนไหวเพื่อรักษา “บ้าน” จึงดำเนินไปอย่างเข้มข้นระหว่างปี ๒๕๓๘-๒๕๔๒ จนตกลงกับ กทม. ได้ว่าจะไม่มีการเวนคืนที่ดินเกินแนวกำแพงเก่า ผลพลอยได้ระหว่างการเคลื่อนไหวครั้งนั้นทำให้ชาวชุมชนได้รู้ว่า ในชุมชนของตนมีโบราณสถานสำคัญคือ “ศาลาโรงธรรม” ที่ปฏิบัติศาสนกิจของชุมชนซึ่งเหลือเพียงแห่งเดียวในกรุงเทพฯ และกำแพงเก่าอันเป็นส่วนหนึ่งของวังเจ้าอนุวงศ์

ซึ่ง ในที่สุด วังเจ้าลาวที่ลุงอุทิศรับรู้ว่า “เป็นกบฏจึงโดนประหาร” ก็ได้กลายเป็นปัจจัยหนึ่งในการรักษาชุมชนบ้านปูนให้รอดพ้นจากการถูกเวนคืน

“นาย ทหารท่านหนึ่งที่เป็นอาจารย์บอกว่าถ้าเอากำแพงเป็นจุดศูนย์กลาง ทิศเหนือของกำแพงที่วันนี้อยู่ใต้สะพานพระราม ๘ คือวังเก่า มีพื้นที่ราว ๑.๘ ไร่ สมัยก่อนเรียก ‘ท่าล่าง’ เพราะเป็นที่ต่ำ เป็นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ส่วนใต้กำแพงลงมาเป็นที่ตั้งชุมชนเรียก ‘ท่าสูง’ ปัจจุบันทั้งหมดได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรเรียบร้อยแล้ว”

แล้วความเป็นอยู่ของเจ้าลาวในฐานะ “องค์ประกัน” ล่ะเป็นอย่างไร ?

“ไม่ ต่างกับที่สมเด็จพระนเรศวรประทับกับพระเจ้าบุเรงนอง มันไม่ทารุณโหดร้ายอย่างที่คนปัจจุบันจินตนาการ นโยบายกษัตริย์สมัยนั้นคือผนวกเป็นเครือญาติ สืบดูจะเห็นว่ากษัตริย์แถบนี้แต่งงานข้ามไปมา อย่างพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ครั้งหนึ่งพระองค์เคยครองเชียงใหม่เพราะว่าพระมารดาเป็นพระราชธิดากษัตริย์ เชียงใหม่ ตอนหลังก็มาครองหลวงพระบาง เวียงจันทน์ด้วยซ้ำ” อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม นักโบราณคดีอาวุโสให้ความเห็นว่า เจ้าอนุวงศ์น่าจะประทับอย่างสุขสบายในฐานะ “ลูกหลวง”

ถ้า ดูประวัติศาสตร์ช่วงเดียวกันจะพบว่าสถานะการเป็น “องค์ประกัน” ของเจ้าอนุวงศ์นั้น “ธรรมดา” อย่างยิ่ง ด้วยยุคเดียวกับที่พระองค์เจริญพระชนมายุในราชสำนักสยาม ยังมียุวกษัตริย์จากอาณาจักรข้างเคียงประทับร่วมด้วยอีกหลายพระองค์ด้วย สาเหตุต่าง ๆ กัน อาทิ องเชียงสือ หรือ เหงียน อันห์ (Nguyen Anh) เชื้อสายขุนนางตระกูลเหงียนที่หลบ “กบฏไตเซิน” เข้ามาในปี ๒๓๒๕ หลังจากนั้นไม่นาน นักองค์เอง ยุวกษัตริย์แห่งกัมพูชา ก็ถูกส่งมากรุงเทพฯ ขณะมีพระชนมายุได้ ๕ พรรษา พร้อมพระอนุชาอีก ๓
พระองค์ อันเป็นผลมาจากการจัดระบบการปกครองในกัมพูชาของสยาม

“องค์ประกัน” เหล่านี้ต่างได้รับพระราชทานที่ประทับจากพระเจ้าแผ่นดินสยามโดยถ้วนหน้า

ราช สำนักกรุงเทพฯ จึงไม่ต่างกับราชสำนักหงสาวดีในยุคก่อน คือเป็นที่ชุมนุมของยุวกษัตริย์จากประเทศราชมาประทับในฐานะ “บุตรบุญธรรม” ควบตำแหน่ง “องค์ประกัน” อันแสดงถึงความจงรักภักดีของกษัตริย์ผู้ครองประเทศราช

ยุว กษัตริย์เหล่านี้มารู้จักกันที่บางกอก ก่อนจะกลายเป็น “ผู้เล่นหลัก” ที่มีบทบาทมากบ้างน้อยบ้างบนสนามการเมืองระหว่างรัฐในระยะต่อไป

เจ้า อนุวงศ์ประทับที่กรุงธนบุรีนานถึง ๑๒ ปี ทรงได้รับการศึกษาร่วมกับเจ้านายเล็ก ๆ แห่งสยามมาตลอด นอกจากนี้ยังมีบันทึกพระราชกิจที่ทรงรับใช้ราชสำนักสยามมากมาย (ไม่ต่างกับที่พระนเรศวรยกทัพไปตีเมืองคังให้หงสาวดี)

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ที่เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดีเรียบเรียงขึ้นในปี ๒๔๑๒ รวมถึงหลักฐานฝ่ายลาว ระบุว่า ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๓๘-๒๓๔๗ เจ้าอนุวงศ์ขณะมีพระชนมายุ ๒๖ พรรษา ได้เสด็จฯกลับไปรับตำแหน่งอุปราชแห่งเวียงจันทน์ จนรัชกาลที่ ๑ โปรดให้สถาปนาพระองค์เป็นกษัตริย์เวียงจันทน์ในปี ๒๓๔๗ ทรงมีผลงานหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเฝ้าระวังทัพอังวะที่ด่านระแหง (ตาก) ในปี ๒๓๔๑ การโจมตีทัพอังวะที่เชียงแสนในปี ๒๓๔๕ เป็นต้น

ประวัติศาสตร์ลาว ยังให้ภาพว่า เมื่อเจ้าอนุวงศ์ขึ้นครองราชย์ขณะมีพระชนมายุ ๓๙ พรรษา ทรงเป็น “กษัตริย์นักพัฒนาผู้ศรัทธาในพุทธศาสนา” ทรงอุปถัมภ์วัดจำนวนมากในเขตพระราชอำนาจครอบคลุมสองฝั่งแม่น้ำโขงแถบอีสาน เหนือ อาทิ วัดศรีบุญเรืองที่หนองคาย หอพระแก้วที่วัดช้างเผือก บ้านศรีเชียงใหม่ เป็นต้น และที่สำคัญคือสร้าง “ขัว” หรือสะพานข้ามแม่น้ำโขง ก่อนที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาวซึ่งก่อสร้างด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่จะเกิดขึ้นใน อีก ๑๘๔ ปีต่อมา

เล่า กันว่าเชิงสะพานฝั่งหนึ่งอยู่ที่วัดช้างเผือก อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย อีกฝั่งอยู่ที่วัดอุบมุง นครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งในงานของมหาสิลา วีระวงส์ มีการยืนยันว่าได้เคยเห็นซากเสาสะพานในปี ๒๕๑๕ ก่อนที่ชาวบ้านจะขุดเอาไม้ไปใช้

แต่ ในความทรงจำของคนรุ่นปัจจุบันอย่างหลวงพ่อสุวรรณ ปสันโณ เจ้าอาวาสวัดช้างเผือก กลับเป็นว่า “ไม่เคยได้ยิน เจ้าอนุวงศ์ยิ่งไม่คุ้น ถ้าพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชก็พอจำได้บ้าง เพราะชื่อวัดนี้มาจากช้างทรงที่ทำหน้าที่อัญเชิญพระแก้วมรกตมาจากเชียงใหม่ ได้สิ้นชีวิตตรงนี้และมีการฝังกระดูกเอาไว้”

ส่วนพระเณรในวัดอุบมุงบอกผมว่าไม่เคยได้ยินเรื่องสะพานที่ว่าเลย

อย่าง ไรก็ตาม ผมยังพบความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าอนุวงศ์กับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า นภาลัย เป็นความสัมพันธ์ในลักษณะคล้ายความรู้จักมักคุ้นระหว่างพระนเรศวรกับพระมหา อุปราชา

น่า สนใจว่าเจ้านาย ๒ พระองค์นี้ “ฮักแพง” (สนิทสนม) กันอย่างยิ่ง หลักฐานชัดเจนที่สุดก็คือร่างตราที่พระบาท-สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมี ถึงเจ้าอนุวงศ์ เล่าเรื่อง “สวนขวา” ที่โปรดให้สร้างในเขตพระราชฐานชั้นใน ในร่างตรานั้นทรงชักชวนเจ้าอนุวงศ์มาชม และทรงเล่าว่าเมื่อมีงานรื่นเริงในสวนขวาครั้งใด

“…ก็ มีพระราชหฤทัยคิดถึงเจ้าเวียงจันทน์ทุกครั้ง ด้วยมิได้ลงไปเห็น จึงโปรดให้ถ่ายอย่างเป็นแผนที่สระที่เก๋งเก่าใหม่ พระราชทานขึ้นมาให้เจ้าเวียงจันทน์ดูพอเป็นสำเนาพลาง ถ้าเจ้าเวียงจันทน์ว่างราชการเมืองเมื่อใดจะลงไปเฝ้าทูลละอองฯ ณ กรุงเทพฯ ก็ให้พาบุตรภรรยามโหรีละคร กับให้หาพายและนกเขาครมลงไปด้วยจะได้เล่นตามสบายใจ…”

คำ ถามที่ว่าทำไมสองพระองค์ถึงฮักแพงกันยิ่ง เรื่องนี้อาจเข้าใจได้ไม่ยากเมื่อทราบว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธ-ยอดฟ้าฯ พระราชบิดาในรัชกาลที่ ๒ ทรงรับสตรีเชื้อสายลาวมาเป็นบาทบริจาริกา (สนม) ถึง ๒ องค์ คือ เจ้าจอมแว่น ธิดาเสนาบดีกรุงเวียงจันทน์ และเจ้าจอมทองสุก พระราช-ธิดาในเจ้าอินทวงศ์ (พระเชษฐาในเจ้าอนุวงศ์) ทั้งนี้เจ้าจอมแว่นยังมีศักดิ์เป็นพระมารดาเลี้ยงที่ทรงสนิทสนมยิ่ง

ยิ่ง เมื่อพิจารณาว่าทั้ง ๒ พระองค์มีพระชนมายุไล่ ๆ กันเจริญพระชนมายุในราชสำนักสยามมาด้วยกัน และทรงศึกษาในราชสำนักพร้อม ๆ กัน ก็จะเข้าใจได้กระจ่างยิ่งขึ้น

วัด ช้างเผือก อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย คือสถานที่ที่หลักฐานลาวชี้ว่าเป็นเชิงขัว(สะพาน) ข้ามแม่น้ำโขงที่สร้างเมื่อกว่า ๒๐๐ ปีที่แล้ว ส่วนเชิงขัวอีกฝั่งแม่น้ำอยู่ที่วัดอุบมุง นครหลวงเวียงจันทน์ ปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยใดๆ ของสะพานนี้เลย

“อิสรภาพ” ของเจ้าอนุวงศ์

เมื่อ ความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์สยามกับกษัตริย์เวียงจันทน์ในฐานะประเทศราช ดำเนินไปด้วยดี อะไรเป็นเหตุให้เจ้าอนุวงศ์ต่อต้านอำนาจกรุงเทพฯ ?

ใน แง่การเมือง ยุคนั้นอาณาจักรหนึ่งจะดำรงอยู่และมีขอบเขตเพียงใดก็ขึ้นกับพระบารมีของผู้ ปกครอง เราอาจมองได้ว่าสมัยรัชกาลที่ ๑ และ ๒ เวียงจันทน์ยังคงเกรงอำนาจสยาม ไม่ต่างกับเมื่อครั้งที่อยุธยาสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาเกรงอำนาจหงสาวดี สมัยพระเจ้าบุเรงนอง

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ กล่าวถึงบันทึกการส่งบรรณาการจากเวียงจันทน์ถึงกรุงเทพฯ ตามปรกติเช่นเดียวกับประเทศราชอื่น ๆ ทว่าเราต้องไม่ลืมว่ายุคนั้นลาวมีถึง ๓ อาณาจักรไล่จากเหนือลงใต้ คือ หลวงพระบาง เวียงจันทน์ จำปาศักดิ์ ซึ่งแยกขาดจากกันตั้งแต่สิ้นรัชกาลพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช (พ.ศ. ๒๑๘๑-๒๒๓๘)

ด้าน ตะวันออกของ ๓ อาณาจักรนี้ยังมีรัฐเว้ (เวียดนาม) ซึ่งมีอำนาจพอ ๆ กับกรุงเทพฯ โดยเว้ถือว่าเวียงจันทน์เป็นประเทศราชของตนเช่นกัน เพราะเวียงจันทน์ส่งบรรณาการให้เว้เช่นเดียวกับที่ส่งให้กรุงเทพฯ

เวียงจันทน์ จึงมีสถานะเป็น “เมืองสองฝ่ายฟ้า” คือส่งเครื่องราชบรรณาการมาแสดงความจงรักภักดีต่อทั้งกรุงเทพฯ และเว้ตามธรรมเนียมเมืองประเทศราชในคราวเดียวกัน ซึ่งคนยุคนี้อาจตั้งคำถามว่ามิเข้าข่ายสุภาษิต “นกสองหัว” หรือ แต่นี่คือเรื่องจริงที่ถือว่า “ธรรมดา” อย่างยิ่งต่อการอยู่รอดของรัฐในยุคนั้น

เวียงจันทน์ จึงถือเป็น “รัฐเล็ก” อยู่ระหว่างรัฐใหญ่ในยุคที่ “เส้นเขตแดน” ยังไม่ถือกำเนิด และสิ่งนี้ไม่มีความหมายใด ๆ ทั้งสิ้นต่อการเมืองระหว่างรัฐโบราณ

เมื่อ ครองราชย์เจ้าอนุวงศ์จึงพบโจทย์ยากคือการดำเนินนโยบายระหว่าง ๒ อาณาจักรใหญ่และกับอาณาจักรลาวด้วยกัน มีปรากฏหลักฐานว่าทรงส่งบรรณาการเพื่อสานสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรลาวด้วยกัน อาทิ ประวัติศาสตร์ลาว บันทึกว่า เจ้าอนุวงศ์แต่งทูต “เอาเรือคำ (ทองคำ) ไปถวายพระเจ้ามันธาตุราช เจ้านครหลวงพระบาง เพื่อผูกไมตรี” และปีต่อ ๆ มาก็ได้ “ส่งช้างเชือกหนึ่งสูง ๗ ศอกไปถวายอีก”

ส่วนหลักฐานที่แสดงถึงการต่อต้านกรุงเทพฯ ของเจ้าอนุวงศ์ชิ้นแรก ๆ ปรากฏใน ประมวลเอกสารโบราณที่เกี่ยวกับลาว ของเวียดนาม เล่าว่า ปี ๒๓๖๘ เจ้าอนุวงศ์ส่งทูตไปเว้ขอความช่วยเหลือในการต่อต้านสยาม ซึ่งภายหลังนักประวัติศาสตร์สำนักชาตินิยมใช้เหตุการณ์นี้เป็นจุดอ้างอิง จินตนาการเรื่อง “ชาติ” ของเจ้าอนุวงศ์ (ทั้งที่ในยุคนั้นยังไม่มีแนวคิดเรื่อง “ประเทศ” หรือ “รัฐชาติ” แบบปัจจุบัน) ร่วมกับคำกลอนท้องถิ่นสำนวนหนึ่งชื่อ “สานลึบพะสูน” ที่พบในอีสานและลาว

นู ไซยะสิดทิวง อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาลาว วรรณคดี คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าคณะค้นคว้า “โครงการค้นคว้าวรรณคดีสมัยอาณาจักรลาวล้านช้างเสื่อมโทรม” ชี้ว่า “สานลึบพะสูน” มีนัยทางการเมืองชี้ถึงพระราชดำริของเจ้าอนุวงศ์ โดยยกตัวอย่างคำกลอนท่อนหนึ่งว่า

“คุดทะ อ้าปีกขึ้น ขำเมกเรืองลิด
จันโท เมามัวมุด มืดแสงสูนฮ้ำ”

แปล เป็นไทยได้ว่า “ครุฑได้แผ่อำนาจบดบังพระจันทร์จนอับแสงลง” ตามการตีความของอาจารย์นู ครุฑคือสยาม พระจันทร์คือเวียงจันทน์ และแทบทุกบทของ “สานลึบพะสูน” มีคำลักษณะนี้อยู่ตลอด บ่งบอกถึงความอึดอัดคับแค้นใจของผู้เขียนที่มีต่อคนลาวส่วนมากว่าไม่สามารถ แยกมิตร-ศัตรูได้ ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ระหว่างอาณาจักรลาวยุคนั้นที่คอยจ้องแต่จะมีปัญหา และร้อง
กล่าวโทษกันไปที่กรุงเทพฯ เป็นหลัก

อย่าง ไรก็ดี อาจารย์นูมองต่างกับนักประวัติศาสตร์ลาวท่านอื่น “คำกลอนนี้สะท้อนสงครามในยุคโบราณ ไม่ควรนำมาเคืองแค้นกัน ศึกษาประวัติศาสตร์มาก ๆ จะพบว่าเวียดนามสมัยก่อนก็ทำแบบเดียวกับไทย ไทยก็โดนพม่าทำ มันเป็นวิถีของยุคนั้น”

เค้า ลางความคิดจะกู้ “เอกราช” ตามคติโบราณของเจ้าอนุวงศ์เริ่มปรากฏหลังเหตุการณ์ “กบฏอ้ายสาเกียดโง้ง” ในปี ๒๓๖๐ ที่จะเปลี่ยนโฉมสถานการณ์ขณะนั้นทั้งหมด

ปี นั้น ภิกษุรูปหนึ่งชื่อ “สา” ตั้งตนเป็นผู้วิเศษรวบรวมผู้คนเข้ายึดจำปาศักดิ์ ทางกรุงเทพฯ มีตราให้เจ้าเมืองนครราชสีมาและเจ้าอนุวงศ์ยกทัพเข้าปราบจนสงบลง ในที่สุดอ้ายสาเกียดโง้งถูกส่งตัวมากรุงเทพฯ ผลที่ตามมาคือรัชกาลที่ ๒ โปรดให้เจ้าราชบุตรโย้ พระราชโอรสในเจ้าอนุวงศ์ไปครองเมืองจำปาศักดิ์แทนเชื้อสายเจ้าเมืองเดิมซึ่ง เท่ากับผนวกเวียงจันทน์กับจำปาศักดิ์โดยปริยาย ส่งผลให้เวียงจันทน์มีกำลังมากขึ้น

นัก ประวัติศาสตร์ไทยและลาวยังเชื่อว่าเหตุการณ์ที่ถือเป็นตัวจุดชนวนสำคัญเกิด ขึ้นหลังพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยสวรรคตได้ไม่นาน

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เล่าว่า ในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยในปี ๒๓๖๘ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ทรง “ให้ขอแรงไพร่พล (ของเจ้าอนุวงศ์ที่มาช่วยงาน-ผู้เขียน) ที่มาด้วยให้ไปตัดต้นตาลที่เมืองสุพรรณลากเข็นลงมาตกท่า ไม่กำหนดว่าเท่าไร จะไปใช้ที่เมืองสมุทรปราการ อนุก็ให้ราชวงศ์คุมคนไปทำการ ครั้นจวนฤดูฝนอนุจะกลับขึ้นไป จึ่งทูลขอพวกละครผู้หญิงข้างในกับดวงคำ (เจ้าหญิงดวงคำ) ซึ่งเป็นลาวเวียง ต้อนครัวมาแต่แผ่นดินเจ้ากรุงธนบุรี ตั้งอยู่เมืองสระบุรี”

ทว่ารัชกาลที่ ๓ ไม่โปรดพระราชทาน เจ้าอนุวงศ์จึงเสด็จฯ กลับด้วยความ “โทมนัสด้วยไม่ได้สมความปรารถนา” ในทางกลับกัน ประวัติศาสตร์ลาว ชี้ว่าทรงวางแผนมานานเพราะ “รักชาติ รักอิสรภาพเป็นที่สุด” งานของมหาสิลา วีระวงส์ อีกชิ้นหนึ่งคือ พระราชปวัตของสมเด็ดพระเจ้าอะนุวงสกะสัดองสุดท้ายแห่งพระราชวงส์เวียงจัน ตีพิมพ์เมื่อปี ๒๕๑๒ ยังให้รายละเอียดเพิ่มอีกว่าเจ้าอนุวงศ์ “ไม่พอพระทัยเป็นอันมาก” เป็นเหตุให้ “เคียดแค้นเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้นพระองค์จึงได้คิดกู้อิสรภาพตั้งแต่นั้นมา”

พิจารณา ดี ๆ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่อย่างยิ่ง ด้วยถ้าสยามยอมคืนครัวลาว สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเสียทรัพยากรที่ดีที่สุดในโลกยุคโบราณคือ “กำลังคน” กำลังหลักในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังอาจเป็นแบบอย่างให้แก่ประเทศราชอื่น ๆ ด้วย

ดร. มะยุรี และ ดร. เผยพัน เหง้าสีวัทน์ สองนักวิชาการลาวยังระบุด้วยว่าสาเหตุที่ใหญ่กว่าคือการสักเลกตามหัวเมือง ภาคอีสานในปี ๒๓๖๗ โดยอ้างเอกสารที่มาลลอช (A. Malloch) พ่อค้าอาวุธชาวอังกฤษได้จากเจ้าหน้าที่สยามสมัยนั้น ในเอกสารนี้บันทึกการสักเลกและเขียนถึงจำนวน “คนสยาม” ในภาคอีสานโดยไม่ระบุถึง “คนลาว” ซึ่งนักวิชาการทั้งสองฟันธงว่าส่อถึงเจตนาผนวกดินแดน ทั้งยังชี้ว่ามีการปิดกั้นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่สยามได้จากลาวผ่านสินค้า มูลค่าสูง อาทิ ไม้สัก หนัง ครั่ง ฯลฯ และเน้นว่าทั้งหมดนี้เป็นความพยายาม “กลืนกินลาว”

เป็นเหตุให้เจ้าอนุวงศ์ขณะมีพระชนมายุ ๕๙ พรรษาตัดสินพระทัยกู้เอกราช

คำ อธิบายนี้สอดคล้องกับหลักฐานมุขปาฐะชิ้นหนึ่งคือ “พื้นเวียง” วรรณกรรมที่แพร่หลายในอีสานและลาวซึ่งปัจจุบันมีการรวบรวมและพิมพ์เป็นเล่ม นักวิชาการเชื่อว่าแต่งขึ้นหลังเจ้าอนุวงศ์สวรรคต ลักษณะเป็นโคลงไม่เคร่งฉันทลักษณ์ใช้ชื่อรหัสแทนบุคคลและเมืองต่าง ๆ มีหลายสำนวน ร้องเป็นกลอนรำ

“พื้น เวียง” เล่าว่า ชนวนสงครามเกิดขึ้นตั้งแต่หลวงยกกระบัตรเมืองโคราช (พระยากำแหงสงคราม) กดขี่ข่า (คนพื้นเมืองในภาคอีสาน) จนเกิดการต่อต้านโดยภิกษุสา (อ้ายสาเกียดโง้ง) ในปี ๒๓๖๐ หลวงยกกระบัตรแทนที่จะสู้ก็ยุให้ภิกษุสายึดบาศักดิ์ (จำปาศักดิ์) จนเจ้าอนุรุทราช (เจ้าอนุวงศ์) ปราบได้ ทำให้พระราชโอรสได้ครองบาศักดิ์ แต่หลวงยกกระบัตรกลับไม่ถูกลงโทษ ซ้ำยังยุให้เจ้าแผ่นดินสยามสักเลกคนในหัวเมืองลาวอันนำมาสู่การทำสงครามใน ที่สุด

จะ มีข้อขัดแย้งคือ “พื้นเวียง” สำนวนอุบลราชธานีกลับให้ภาพเจ้าอนุวงศ์ในด้านลบ โดยระบุว่าเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดจากความทะเยอทะยานของเจ้าอนุวงศ์เอง ซึ่งถ้าสืบกลับไปจะพบว่าอุบลราชธานีนั้นเดิมคือ “ดอนมดแดง” เมืองที่พระวอพระตา (หรือพระวรปิตา) ซึ่งขัดแย้งกับพระเจ้าสิริบุญสาร อพยพผู้คนมาสร้างเมืองและเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระเจ้าตากสิน ก่อนที่ต่อมาพระเจ้าสิริบุญสารจะส่งกองทัพมาโจมตีจนเป็นชนวนศึกระหว่างกรุง ธนบุรีกับเวียงจันทน์เมื่อปี ๒๓๒๒

อย่าง ไรก็ตาม เรื่องการสักเลกในมุมมองนักวิชาการไทยอย่าง ผศ. สุวิทย์ ธีรศาศวัต อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กลับเห็นต่าง เขาชี้ว่าโดยเจตนาสยามไม่ต้องการกลืนลาวด้วยการสักเลก เพียงแต่ตอนนั้นกรุงเทพฯ พยายามเก็บภาษีให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

“เพราะ สมัยก่อนไม่มีการทำสำมะโนประชากร หัวเมืองแจ้งจำนวนอย่างไรเมืองหลวงก็เชื่อ ผมมีหลักฐานว่าเจ้าเมืองอีสานยุคนั้นคอร์รัปชันเยอะเวลาเก็บภาษี การสักเลกคือการลงทะเบียนคนเหมือนเกณฑ์ทหาร ต่างก็แต่สักเลกเอาแรงงานเฉพาะเมืองใกล้ ๆ พวกเมืองไกลส่งของมีค่าแทน มองอย่างเป็นกลาง ถ้าจะกลืนกันจริงต้องทำแบบที่เว้ทำกับกัมพูชาสมัยรัชกาลที่ ๒ ตอนนั้นพระอุทัยราชาไปฝักใฝ่ราชสำนักเว้ ปล่อยให้ทหารจากอาณาจักรนี้คุมเมืองต่าง ๆ บางคนเป็นเจ้าเมือง ทุกเดือนขุนนางกัมพูชาต้องเอาหัวโขกพื้นคำนับฮ่องเต้เว้ มีการเอากฎหมายเว้มาใช้ แต่สยามปกครองอีสาน ลาว ไม่เคยเปลี่ยนระบบใด ๆ”

ผม ยังพบ “พงศาวดารกระซิบ” ที่เล่าสาเหตุของสงครามแตกต่างออกไป โดยอาจารย์ศรีศักรให้ข้อมูลว่าทุกวันนี้คนเฒ่าคนแก่ในเวียงจันทน์ยังมีตำนาน เล่าต่อกันมาว่า เหตุของสงครามเกิดจากเจ้าอนุวงศ์ทรงขอเจ้าหญิงองค์หนึ่งที่ทรงหมั้นไว้ ตั้งแต่อยู่เวียงจันทน์คืน

“สะท้อนได้เป็นอย่างดีว่ามีมิติความขัดแย้งระหว่างเครือญาติ”

จะ อย่างไรก็ตาม ในปี ๒๓๖๙ นั้นมีหลักฐานชั้นต้นชิ้นหนึ่งที่อาจบอกเราได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่าง กรุงเทพฯ-เวียงจันทน์ได้พัฒนาไปสู่จุดแตกหัก ด้วยในปีนั้นเจ้าอนุวงศ์โปรดให้หล่อพระพุทธรูปสำริดองค์หนึ่ง ที่ฐานพระพุทธรูปจารึกว่า

สมเด็จ พระราชเชฏฐา เจ้ามหาชีวิตอนุวงศ์แห่งราช-อาณาจักรเวียงจันท์ ให้หล่อขึ้นในปี จ.ศ. ๑๑๘๘ (พ.ศ. ๒๓๖๙) เทียม (แทน) พระแก้วมรกตเจ้า

พระพุทธรูปสำริดองค์นี้ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี

สิ่ง นี้อาจแสดงถึงความคับข้องใจต่อการกระทำของสยามที่พระองค์ทรงรับรู้มาแต่ยัง ทรงพระเยาว์ นั่นคือการอัญเชิญพระแก้วมรกตมายังกรุงธนบุรี พร้อมกับพระองค์ในฐานะ “องค์ประกัน” นั่นเอง

สถูป บรรจุอัฐิคุณหญิงโม (ท้าวสุรนารี) ที่วัดศาลาลอย อ.เมือง จ.นครราชสีมา ทุกวันนี้ยังคงมีผู้ศรัทธามากราบไหว้อย่างไม่ขาดสาย เ่ช่นเดียวกับอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองโคราช

อนุสรณ์ สถานวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์ ที่บ้านสัมฤทธิ์ หมู่ที่ ๑ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์จลาจลของครัวโคราช อันเป็นจุดเปลี่ยนทำให้เจ้าอนุวงศ์ถอยทัพ ประวัติศาสตร์ชาตินิยมระบุว่าคุณหญิงโมออกอุบายให้หญิงสาวล่อลวงทหารลาวจน ตายใจ แล้วก่อการจลาจล ขณะที่นักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่่ศึกษาหลักฐานทั้งหมดพบว่าเหตุการณ์จลาจลมี จริง แต่คำถามคือวีรกรรมท้าวสุรนารีเกิดขึ้นจริงหรือไม่

ทุ่ง สัมฤทธิ์ จุดที่ครัวโคราชก่อการจราจลต่อต้านทหารเวียงจันทน์ เป็นส่วนหนึ่งของ “ทุ่งกุลาร้องไห้” แหล่งปลูกข้าวที่ว่ากันว่าดีที่สุดในโลก ภาพนี้ถ่ายช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยวปี ๒๕๕๑ ท่ามกลางน้ำเจิ่งนองจากพายุ กลางทุ่งนาเวิ้งว้างเช่นนี้เองที่ “อนุสรณ์สถานวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์” ถูกสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของท้าวสุรนารีซึ่งยังไม่มีบทสรุปว่าเกิด ขึ้นจริงหรือไม่

ศึกเจ้าอนุวงศ์ พุทธศักราช ๒๓๖๙

ปลายฤดูแล้ง พุทธศักราช ๒๓๖๙ สงครามครั้งใหญ่ระหว่างเวียงจันทน์กับกรุงเทพฯ เริ่มต้นขึ้น

“เริ่ม จากระดมพลจากเมืองใต้บังคับบัญชามาไว้ที่เวียงจันทน์กับจำปาศักดิ์เพื่อฝึก ทหาร แล้วส่งขุนนางกับทหารส่วนหนึ่งออกไปเกลี้ยกล่อมหัวเมืองในภาคอีสานให้เข้า ร่วม การตีกรุงเทพฯ ตีได้ก็ดี ถ้ามีการป้องกันเข้มแข็งก็ไม่ตี แต่จะกวาดต้อนประชากรหัวเมืองรายทางที่กองทัพผ่านกลับมาไว้ที่เวียงจันทน์ และจำปาศักดิ์” อาจารย์สุวิทย์วิเคราะห์ยุทธวิธีของเจ้าอนุวงศ์ และเล่าว่าจากการศึกษาพบว่าเจ้าอนุวงศ์ยังส่งทูตไปถึงหัวเมืองเหนือเพื่อชัก ชวนให้เข้าโจมตีสยามพร้อมกันด้วย

ไม่ ต่างจากครั้งสมเด็จพระนเรศวรยกทัพจากหงสาวดีกลับอยุธยา สิ่งที่เจ้าอนุวงศ์ทรงทำเมื่อเสด็จฯ กลับเวียงจันทน์คือรวมกำลังคนจากหัวเมืองต่าง ๆ มาไว้ที่เมืองหลวงและเมืองสำคัญ ต่างก็แต่ต้องทรงเล่นการเมืองกับรัฐลาวที่ไม่เป็นเอกภาพและเลือกเปิดเกมรุก โดยบุกอย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้กรุงเทพฯ ตั้งตัว

อานามสยามยุทธ บันทึกการรบระหว่างสยามกับเวียงจันทน์ ซึ่ง “ก.ศ.ร. กุหลาบ” เขียนเสร็จเมื่อปี ๒๔๔๗ โดยเจ้าตัวอ้างว่านำข้อมูลมาจากเอกสารของเจ้าพระยาบดินทรเดชา แม่ทัพใหญ่ที่เป็นกำลังหลักในการบุกเวียงจันทน์ ระบุแนวพระราชดำริในเชิงยุทธศาสตร์ของเจ้าอนุวงศ์เอาไว้ว่า

“ทุก วันนี้ที่กรุงเทพมหานครมีแต่เจ้านายเด็ก ๆ หนุ่ม ๆ ที่ไม่ชำนาญในการทัพศึกเลย แต่ขุนนางผู้ใหญ่ก็มีน้อยตัวแล้ว ฝีมือทัพศึกก็อ่อนแอ เพราะว่างเว้นการศึกมาช้านาน…กรุงเทพฯ ทุกวันนี้ก็หย่อนกำลังลงกว่าแต่ก่อนมาก อนึ่งเดี๋ยวนี้เจ้าพระยานครราชสีมาก็ไม่อยู่ที่บ้านเมืองนครราชสีมา เพราะไปขัดตาทัพอยู่ไกลบ้านเมืองเขา ตามหัวเมืองรายทางก็ไม่มีที่กีดขวางเลย การเป็นทีเราหนักหนาแล้ว ไม่ควรเราจะเป็นเมืองขึ้นกับกรุงเทพมหานครต่อไป อนึ่งเราได้ยินข่าวทัพเรือพวกอังกฤษ ก็มารบกวนปากน้ำกรุงเทพฯ ทุกวันนี้ เห็นเป็นทีเราหนักหนา น่าที่เราจะยกทัพใหญ่ลงไปตีกรุงเทพฯ ก็เห็นจะได้โดยง่าย เพราะเราจะเป็นทัพกระหนาบทัพอังกฤษ…”

แม้ จะมีน้ำหนักน้อยด้วยเป็นเอกสารที่เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ หลังเหตุการณ์ถึงเกือบศตวรรษ จนเป็นที่กล่าวขานกันว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ “กุ” ขึ้น แต่ก็นับว่าเป็นหลักฐานชิ้นเดียวที่กล่าวถึงพระราชดำริของเจ้าอนุวงศ์อย่าง ชัดเจน สอดคล้องกับการวิเคราะห์ของอาจารย์สุวิทย์ ทั้งนี้อาจารย์ยังระบุว่าทัพเจ้าอนุวงศ์น่าจะมีกำลังพลราว ๑.๗-๓.๕ หมื่นคน และในการบุกเข้าตีจะใช้ ๒ เส้นทางหลักในการเดินทัพ

เส้น ทางแรก แยกเป็น ๒ กองทัพ ทัพแรกเดินจากเวียงจันทน์-หนองบัวลำภู-โคราช ทัพที่ ๒ เดินจากสกลนคร-กาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด ไปบรรจบกับทัพแรกที่โคราช

เส้น ทางที่ ๒ ยกทัพจากจำปาศักดิ์-อุบลราชธานี แล้วแยกเป็น ๒ ทาง คือไปสุวรรณภูมิ (ปัจจุบันคือจังหวัดร้อยเอ็ด) อีกส่วนมุ่งไปศรีสะเกษ ขุขันธ์ สังขะ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นางรอง

การ เคลื่อนทัพระยะแรกเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม-มกราคม พ.ศ. ๒๓๖๙ (นับปีตามปฏิทินแบบไทยเดิม)โดยจะระดมกำลังและฝึกทหาร ๓ เดือน ก่อนเข้ายึดเมืองต่าง ๆ

ทัพใหญ่ของเจ้าอนุวงศ์สามารถยึดโคราชได้อย่างสมบูรณ์ในวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๖๙ และส่งทัพหน้ามากวาดต้อนผู้คนลึกถึงสระบุรี

พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๑

การยึดครองโคราชครั้งนั้นยังชัดเจนในความทรงจำของคนยุคปัจจุบัน

ผ่าน ตำราเรียน แล้วส่งต่อไปยังความทรงจำของคนโคราชที่นิยามตนเป็นลูกหลานย่าโม–ท้าวสุ รนารี สตรีที่นักประวัติศาสตร์สำนักชาตินิยมยกย่องเป็น “วีรสตรีแห่งชาติไทย” จากการนำครัวโคราชลุกขึ้นต่อต้านทหารลาวที่ทุ่งสัมฤทธิ์จนกลายเป็นจุด เปลี่ยนของสงคราม

คน โคราชที่ผมสนทนาด้วยทุกคนจำเหตุการณ์นี้ได้แม่นยำราวกับเกิดร่วมยุค ทุกคนเล่าเหตุการณ์ “วีรกรรมที่ทุ่งสัมฤทธิ์” ได้เป็นฉาก และที่น่าสนใจคือยังมีวีรกรรม “นางสาวบุญเหลือ” ร่วมอยู่ด้วย

เรื่องเล่าของลุงประสิทธิ หมอสัมฤทธิ์ เกษตรกรที่ทุ่งสัมฤทธิ์ หมู่ที่ ๑ บ้านสัมฤทธิ์ อำเภอพิมาย อาจเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด

“ตอน นั้นเจ้าอนุวงศ์ยกทัพมากวาดต้อนผู้คน ปลัดทองคำ สามีคุณหญิงโม ไปราชการที่กรุงเทพฯ คุณหญิงโมกับญาติ ๆ ก็โดนกวาดต้อนไปเวียงจันทน์พร้อมคนโคราช พอครัวมาถึงที่นี่ก็พักแรม ย่าโมออกอุบายให้ทำเหล้า ตัดไม้รวกเหลาให้แหลม มอมเหล้าทหารลาว ให้นางสาวบุญเหลือปรนนิบัติเพี้ยรามพิชัย ได้ทีท่านก็ให้สัญญาณ เพี้ยรามพิชัยรู้ตัว ย่าเหลือก็วิ่งไปเจอดินปืนกองใหญ่เลยเอาดุ้นไฟแหย่จนระเบิดตายพร้อมเพี้ยราม พิชัย จากนั้นปลัดทองคำก็นำกำลังมาช่วยจึงชนะทหารลาว เอาหัวไปทิ้งที่หนองหัวลาวใกล้ ๆ นี้ สมัยก่อนเจอกะโหลกมนุษย์ในดินมากมาย”

ทุ่ง สัมฤทธิ์วันนี้จึงปรากฏ “อนุสรณ์สถานวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์” เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมครั้งนั้น ส่วนหนองหัวลาวก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่อยู่ถัดไปไม่ไกลนัก

แล้วหลักฐานที่เกี่ยวข้องเล่าเรื่องนี้ไว้อย่างไร ?

หลักฐานร่วมสมัยอย่าง จดหมายเหตุนครราชสีมา ต้นฉบับเป็นสมุดไทยดำ ระบุคำให้การขุนโอฐบันทึกในใบบอกว่า “เวลาเช้าตรู่ พระยาปลัด พระยายกกระบัตรกรมการต่างคนต่างยิงปืนคนละนัด พวกครัวก็เข้าฟันแทง ทั้งพระสงฆ์ เถร เณร ผู้หญิงในครัว หนุนโห่ร้องไล่อ้ายลาวแตก”

อีกชิ้นหนึ่งคือ คำให้การอ้ายพระยานรินทร์ แม่ทัพลาวที่ถูกจับในคราวนั้น อ้างพระราชดำรัสเจ้าอนุวงศ์ว่า “อ้ายอนุบอกข้าพเจ้าว่าครัวเมืองโคราชซึ่งให้เพี้ยรามพิชัยคุมไพร่ ๒๐๐ คนไปถึงบ้านสัมริด พวกครัวฆ่านายไพร่ตายเสียหมดแล้ว ให้อ้ายสุทธิสารคุมไพร่ ๒,๐๐๐ คน มีปืน ๒๐๐ บอก ยกไปรบกับครัวโคราช ณ บ้านสัมริด อ้ายสุทธิสารแตกหนีมา พวกครัวฆ่านายไพร่ตายเป็นอันมาก”

เอกสาร ทั้ง ๒ ชิ้นไม่เอ่ยถึงวีรกรรมคุณหญิงโมเลย แต่เราจะไปพบเรื่องนี้ใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ซึ่งกล่าวถึงบทบาทหลักในการวางแผนจลาจลว่าตกอยู่กับพระยาปลัดและพระยาพรหม ยกกระบัตรโดยมี “ท่านผู้หญิงโม้” เป็นกองหนุน ส่วนหลักฐานฝ่ายไทยที่ให้บทบาทคุณหญิงโมเป็นตัวเอกปรากฏในปี ๒๔๙๔ คือ ประวัติท้าวสุรนารี ของพันตรีหลวงศรีโยธา

กลับ กันกับหลักฐานฝ่ายลาวซึ่งไม่พบภาพคุณหญิงโมเลย ประวัติศาสตร์ลาว กล่าวเรื่องนี้ไว้อย่างรวบรัดว่า ทัพเจ้าอนุวงศ์ถูกกองทัพกรุงเทพฯ ยกตามตีเมื่อมาถึงเมืองโคราช

ส่วน เรื่องนางสาวบุญเหลือ หรือ “ย่าเหลือ” ไม่ปรากฏในหลักฐานใด ๆ ยกเว้นหลักฐานที่ทำขึ้นหลังปี ๒๔๗๕ เป็นต้นมา ต่อกรณีนี้ผมยังพบเอกสารราชการที่กระทรวงวัฒนธรรมติดต่อกับจังหวัด นครราชสีมาในปี ๒๕๐๐ เรื่องการสำรวจสถานที่เกิดวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์เพื่อหา “สถานที่สู้รบของท่านท้าวสุรนารี ‘วีรสตรี’ ซึ่งมีชัยชนะต่อเจ้าอนุเวียงจันทน์ข้าศึกผู้รุกรานชาติไทยในปี ๒๓๖๙…”

ซึ่ง ต่อมาทำให้เกิดการค้นพบสถานที่ที่ทุกวันนี้กลายเป็นที่ตั้งของอนุสรณ์สถาน วีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์ โดยอ้างการค้นพบหลักฐานเป็นกระดูกมนุษย์จำนวนมาก

จะว่าไปทั้งเรื่องวีรกรรมท้าวสุรนารีและนางสาวบุญเหลือเป็นประเด็นถกเถียงอย่างกว้างขวางมาแล้วในปี ๒๕๓๙ เมื่อมีการตีพิมพ์หนังสือ การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของ สายพิน แก้วงามประเสริฐ ที่ได้นำเสนอหลักฐานอย่างรอบด้านพร้อมกับตั้งคำถามเรื่อง “ชาติ” รวมถึงวีรกรรมของคุณหญิงโมว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่ จนส่งผลให้เจ้าตัวซึ่งขณะนั้นเป็นครูมัธยมฯ ถูกย้ายออกจากพื้นที่ภายใน ๒๔ ชั่วโมงเพื่อความปลอดภัย หลังคนโคราชกลุ่มหนึ่งเผาพริกเผาเกลือสาปแช่ง แต่หนังสือดังกล่าวก็กลายเป็นหนังสือ “ต้องห้าม” ที่แพร่หลายมาจนถึงทุกวันนี้

อย่าง ไรก็ตาม หลักฐานทุกชิ้นชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่าเกิดการจลาจลขึ้น ส่งผลให้เจ้าอนุวงศ์ตัดสินพระทัยถอยทัพจากโคราชในช่วงปลายเมษายน พ.ศ. ๒๓๗๐ โดยขณะเดินทัพกลับเวียงจันทน์ได้ตั้งค่ายสกัดทัพสยามที่จะตามไปในจุด ยุทธศาสตร์สำคัญ

ทั้ง นี้เหตุที่เจ้าอนุวงศ์พลาดจนต้องถอยทัพ อาจารย์สุวิทย์ชี้ว่ามาจากการกวาดต้อนผู้คนจำนวนมากจากหัวเมืองถึง ๓๕ แห่งทั้งที่มีกำลังทหารจำกัด ทำให้ต้องแบ่งทหารคุมการอพยพครัวที่มีราว ๕-๙ หมื่นคน ซึ่งถือเป็นสิ่งบั่นทอนกำลังทัพ ทั้งก็มีคนบางส่วนไม่เต็มใจอพยพทำให้การคุมครัวยากขึ้นอีก จนเมื่อให้ทหาร ๒๐๐ คนคุมครัว ๘,๐๐๐ คนจากโคราชไปยังทุ่งสัมฤทธิ์แล้วเกิดการจลาจลต่อต้าน พอเจ้าอนุวงศ์ส่งทหารตามไปปราบก็ล้มเหลว สิ่งที่ตามมาคือความหวาดระแวง ต้องเพิ่มกำลังทหารดูแลการอพยพครัวชุดอื่น ๆ และทำให้ยุทธศาสตร์การบุกเสียหายจนต้องถอยทัพ

“ช่อง ข้าวสาร” ในปัจจุบัน หรือ “ช่องเขาสาร” ในอดีต หนึ่งในจุดยุทธศาสตร์ที่กองทหารสยามเดินทัพผ่าน เมื่อพ้นช่องเขานี้จะเป็นทางราบยาว ๘๐ กิโลเมตรเข้าสู่เวียงจันทน์ จุดนี้มีการวางกำลังทหารลาวไว้จำนวนมาก แต่เมื่อค่ายที่บ้านส้มป่อยแตก กำลังส่วนนี้ก็ถูกถอนไปโดยปริยาย

หลัก เขตเก่าของเมืองท่าแขกริมน้ำโขง ตรงข้าม จ.นครพนม ของไทยในอดีตคือส่วนหนึ่งของเส้นทางที่เจ้าอนุวงศ์ล่องเรือผ่าน แล้ววกเข้าสู่ปากแม่น้ำเซบั้งไฟ เพื่อเดินทางเข้าสู่เมืองมหาชัยกองแก้วที่อยู่ทางทิศตะวันออก

ส่วนหนึ่งของเส้นทางลี้ภัยของเจ้าอนุวงศ์ ลัดเลาะไปตามเทือกเขาที่สูงที่สุดทางตอนเหนือของประเทศลาว

ความปราชัยบนที่ราบสูง

“ใน สายตาสยาม ศึกคราวเจ้าอนุวงศ์เป็นเรื่องใหญ่มาก เห็นได้จากคำสั่งเกณฑ์พลเมืองในภาคกลาง เหนือ ใต้ จากนั้นยกทัพไป ๕ ทาง ทางแรก เข้าทางอีสานใต้ ผ่านประโคนชัย บุรีรัมย์ ตีค่ายมูลเค็งที่พิมาย สุวรรณภูมิ ยโสธร อุบลราชธานี จำปาศักดิ์ แล้วไปตามลำน้ำโขง แม่ทัพสายนี้คือพระยาราชสุภาวดี (ต่อมาคือเจ้าพระยาบดินทรเดชา) ทางที่ ๒ เป็นทัพหลวง นำโดยกรมพระราชวังบวรฯ มหา-ศักดิพลเสพ เข้าทางปากช่อง โคราช ตีค่ายที่หนองบัวลำภู มุ่งตรงสู่เวียงจันทน์ ทางที่ ๓ ยกผ่านสระบุรี ด่านขุนทดไปรวมกับทัพที่ ๒ ทางที่ ๔ ตีหล่มสัก เพชรบูรณ์ ทางที่ ๕ เป็นทัพเมืองเหนือยกจากพิษณุโลกเข้าตีหล่มสัก แบ่งส่วนหนึ่งไปทางด่านซ้าย มุ่งหน้าสู่กรุงเวียงจันทน์”

อาจารย์ สุวิทย์ให้ภาพการตอบโต้ของกรุงเทพฯ พร้อมอธิบายว่าพอเคลื่อนทัพไปไม่นาน รัชกาลที่ ๓ ก็ทรงเรียก ๒ ทัพกลับมาป้องกันกรุงเทพฯ ด้วยมีข่าวว่าอังกฤษอาจยกทัพเรือมาโจมตีสยาม

และ ชี้ว่าสมรภูมิตัดสินการศึกครั้งนี้ไม่ได้อยู่ที่ทุ่งสัมฤทธิ์ แต่อยู่ที่บ้านส้มป่อยและช่องเขาสารซึ่งอยู่ในเส้นทางเดินทัพของกรม พระราชวังบวรฯ มหาศักดิพลเสพ

สถาน ที่ทั้ง ๒ แห่งปัจจุบันอยู่ในจังหวัดหนองบัวลำภู บ้านส้มป่อยอยู่ในอำเภอสุวรรณคูหา ส่วนช่องเขาสารปัจจุบันคือช่องเขาเชื่อมระหว่างบ้านนาด่าน อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู กับบ้านหนองแวง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี คนท้องถิ่นเรียก “ช่องข้าวสาร”

กาง แผนที่ทหารภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะพบเทือกเขาเตี้ย ๆ แนวหนึ่งชื่อภูพาน วางตัวทอดยาวจากเหนือจรดใต้กั้นระหว่างหนองบัวลำภูกับอุดรธานีและหนองคาย

“ช่อง ข้าวสาร” เป็นช่องเขาธรรมชาติไม่กี่แห่งที่เหมาะแก่การยกพลช้างม้าและไพร่พลผ่านไปได้ อย่างสะดวก จึงถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญถัดจากค่ายที่บ้านส้มป่อย

“บ้าน ส้มป่อยเป็นค่ายใหญ่ ทัพหน้าของสยามเกือบแพ้ที่นี่เพราะลาวมีกำลังหนุนจากช่องเขาสาร แต่เมื่อทัพหนุนของสยามไปทัน ค่ายที่บ้านส้มป่อยก็แตก ค่ายช่องเขาสารถูกทิ้ง เมื่อผ่านตรงนี้ได้จะเป็นทางราบยาว ๘๐ กิโลเมตรไปจนถึงเวียงจันทน์” อาจารย์สุวิทย์อธิบายความสำคัญทางยุทธศาสตร์

ตาม เส้นทางถอยทัพเจ้าอนุวงศ์ ปัจจุบันถ้าเราขับรถไปตามทางหลวงหมายเลข ๒๒๘ จากโคราชเข้าสู่ชัยภูมิและหนองบัวลำภู จากจุดนี้จะสามารถตามรอยกองทัพไปยังบ้านส้มป่อยและช่องเขาสารได้โดยใช้ทาง หลวงหมายเลข ๒๐๙๗

สมภาร โวหารา คนเลี้ยงวัวที่ช่องเขาสาร เล่าตำนานที่อาจตกค้างมาจากสงครามครั้งอดีตให้ฟังว่า “ดนแล้ว (นานแล้ว) คนแก่เล่าว่ามีข้าวสารผุดขึ้นจากบ่อน้ำแถวนี้ เลยเรียก ‘ช่องข้าวสาร’ มีคนเว้า (พูด) ต่อมาว่าตรงนี้เป็นเส้นทางเดินทัพเก่า แต่ไม่รู้ว่าใครรบกับใคร”

ที่น่าสนใจคือลุงสมภารบอกว่าหลายสิบปีก่อนเคยมีการขุดพบไหบรรจุลูกปืนใหญ่ด้วย

ขณะที่ทัพของเจ้าอนุวงศ์ตามจุดต่าง ๆ ในภาคอีสานพ่ายแพ้ ภายในทัพสยามเองก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา

จดหมาย รับสั่งของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลถึงกรมหมื่นสุรินทรรักษ์ กรมหมื่นรักษรณเรศร ให้กราบบังคมทูลราชการศึกระบุว่า หลังส่งกำลังข้ามโขงไปยึดเวียงจันทน์แล้ว ก็พบกับท่าทีไม่น่าไว้วางใจของทัพหัวเมืองเหนือที่มาช่วยราชการศึกด้วย “…ฝ่ายทัพพุงดำ ๕ หัวเมืองและหัวเมืองหลวงพระบางนั้น ถ้าทัพหลวงไม่ได้เมืองเวียงจันท์ ก็หามีผู้ใดมาถึงเมืองเวียงจันท์ไม่ แต่จะคอยเก็บครอบครัวช้างม้าอยู่ริมเขตแดนคอยทีไหวพริบเป็น ๒ เงื่อน แต่บัดนี้ใช้สอยได้เป็นปกติต้องขู่บ้าง ปลอบบ้าง แต่ยังดูน้ำใจทั้ง
๖ หัวเมือง เมืองหลวงพระบางอ่อนนัก เมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูน ๒ เมืองนี้ ก็สุดแต่เมืองลคร เมืองแพร่นั้นตามธรรมเนียม แต่เมืองน่านนั้นการเดิมไหวอยู่…”

ข้อ ความนี้สะท้อนความเป็นเอกเทศของทัพจากหัวเมืองในยุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ได้เป็นอย่างดี ด้วยสมัยนั้นพลทหารและแม่ทัพของทัพเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน ฯลฯ มิได้จินตนาการว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของ “กองทัพแห่งชาติ” ของ “ประเทศไทย” เหมือนสมัยนี้ สิ่งที่แม่ทัพต้องทำคือ หาจังหวะเก็บ “ผู้คนและช้างม้า” ทรัพยากรสำคัญโดยพยายามให้เสียหายน้อยที่สุด ส่วนแม่ทัพจากเมืองหลวงก็ต้องคอยระมัดระวังท่าทีของทัพเหล่านี้โดยธรรมชาติ

ทัพ สยามก็ทำสงครามตามคตินี้ จดหมายรับสั่งฯ บันทึกว่า เมื่อทัพหน้าของกรมพระราชวังบวรฯ เข้าเวียงจันทน์ได้ก็กวาดต้อนผู้คน ช้างม้า หลอมปืนใหญ่เอาทองคำ ยึดพระเสริม พระแซ่คำ สร้างเจดีย์ “จารึกพระนามว่าเจดีย์ปราบเวียงและความชั่วอ้ายอนุไว้ในแผ่นศิลาให้ปรากฏ อยู่ชั่วฟ้าและดิน”

หลักฐานลาวอย่าง พระราชปวัตของสมเด็ดพระเจ้าอะนุวงส์ฯ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าทัพสยาม “ตัดต้นหมากรากไม้ที่มีผลเสียหมด เอาไฟจุดสุมเมืองเสียและให้ทำลายกำแพงเมืองลงหมดเกลี้ยง”

ถือเป็นการทำลายเวียงจันทน์ครั้งที่ ๒ นับจากปี ๒๓๒๒

ทว่า แม้ทำลายเมืองได้ ในทัศนะกรมพระราชวังบวรฯ การศึกครั้งนี้กลับไม่คุ้ม จดหมายรับสั่งฯ สะท้อนพระราชดำริว่า “…ได้เมืองเวียงจันท์แต่เปลือกเมือง ครอบครัวก็อพยพหนีไปจนสิ้น บัดนี้ครอบครัวก็ยังปะปนกันอยู่กับครัวเมืองนครราชสีมา เมืองสระบุรี เมืองหล่มศักดิ์ เมืองลาว เมืองเขมร ฝ่ายตะวันออก การซึ่งจะทำให้แล้วโดยเร็วหาได้ไม่…ครั้นจะคิดให้ตั้งเมืองเวียงจันท์ไว้ เกลี้ยกล่อมก่อน ก็หามีผู้ใดอยู่รักษาไม่…จึ่งให้ทำลายเมืองเวียงจันท์เสียให้สิ้นอาลัย”

อันหมายถึงกำลังคนที่กวาดต้อนได้มีไม่มาก เจ้าอนุวงศ์ก็ทรงหนีไปแล้ว

การยึดและรักษาพื้นที่ “เหนือดินแดนทุกตารางนิ้ว” ก็มิใช่เป้าหมายหลักแต่อย่างใด

เส้น ทางต่อจากเมืองไซบัวทอง มองตามภูมิประเทศแล้วจะพบทางราบลัดเลาะตามช่องเขาขึ้นเหนือ ไปจนถึงเมืองคำเกิดที่อยู่ห่างจากเมืองเหงะอาน ๒๐ กิโลเมตร

เมือง คำเกิด หรือปัจจุบันคือ “หลักซาว” ชื่อเมืองนี้แปลว่่าหลักกิโลเมตรที่ ๒๐ จากชายแดนทิศตะวันออก เป็นปากทางเข้าสู่เมืองเหงะอาน (วินห์) ของเวียดนาม

เมือง หลักซาวในประเทศลาว ทุกวันนี้คึกคักด้วยยวดยานพาหนะ และผู้คน ในอดีตคือเมืองคำเกิดซึ่งอยู่บนเส้นทางลี้ภัยการเมืองของเจ้าอนุวงศ์

การทูต “สองฝ่ายฟ้า”

เจ้าอนุวงศ์เสด็จฯ ออกจากเวียงจันทน์ในวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๗๐ ก่อนเสียเมือง ๓ วัน

พงศาวดาร ไทยและลาวระบุตรงกันว่า พระองค์ลงเรือล่องแม่น้ำโขงไปทางใต้ จากนั้นลี้ภัยไปที่เมืองเหงะอาน (Nge-An) ของเวียดนาม (ปัจจุบันคือเมืองวินห์ ทางภาคเหนือของเวียดนาม) เนื่องเพราะครั้งหนึ่งพระอัยกาในเจ้าอนุวงศ์คือ “พระไชยองค์เว้” เคยเสด็จลี้ภัยการเมืองอยู่ช่วงหนึ่ง สายสัมพันธ์กับเวียดนามจึงแนบแน่นมาแต่อดีต

จาก การสำรวจเส้นทางผมพบว่า เจ้าอนุวงศ์ต้องล่องแม่น้ำโขงลงไปจนถึงปากแม่น้ำเซบั้งไฟที่อยู่ห่างเมือง ท่าแขกและนครพนมลงไปทางใต้ราว ๖๐ กิโลเมตร จากนั้นต้องทวนน้ำไปถึงเมืองมหาชัยกองแก้วที่วันนี้มีสภาพเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ เข้าถึงได้ด้วยถนนลูกรังที่ใช้การได้เฉพาะฤดูแล้ง

ต่อ จากนั้นเส้นทางที่ดีที่สุดคือเดินไปทางตะวันออกข้ามทิวเขาสูงที่ด่านเมืองนา พาว อีกทางหนึ่งลงเรือล่องแม่น้ำเทินที่ไหลไปทางเหนือ เดินเลียบลำน้ำพาวไปทางตะวันออกจนถึงด่านน้ำพาวแล้วเข้าสู่เมืองเหงะอาน

ที่ จริงตั้งแต่สงครามกรุงเทพฯ-เวียงจันทน์ระเบิดขึ้น ราชสำนักเว้ก็ส่งสัญญาณไม่พอใจผ่านช่องทางการทูตเป็นระยะ ด้วยถือว่าเวียงจันทน์เป็นประเทศราชของตนเช่นเดียวกับสยาม ดังนั้นการรับอุปการะเจ้าอนุวงศ์จึงถือเป็นเรื่องปรกติอย่างยิ่ง

ปฏิกิริยา แรก ๆ อย่างเป็นทางการของเว้เกิดขึ้นระหว่างทัพพระยาราชสุภาวดีซึ่งแยกกันเดินทัพ กับทัพหลวงของกรมพระราชวังบวรฯ มหาศักดิพลเสพไปหยุดพักไพร่พลที่นครพนม สัตตะคุณเตียนยิน แม่ทัพเวียดนาม ส่งหนังสือถึงพระสุริยภักดี นายทัพของพระยาราชสุภาวดี มีเนื้อความว่า “เมืองเวียงจันท์ก็เป็นแดนกรุงเวียดนาม บัดนี้แม่ทัพใหญ่ใช้ให้ข้าพเจ้าคุมกองทัพบกมา ๒๐,๐๐๐ เศษ มาตั้งอยู่เมืองตามดอง” และยื่นคำขาดให้ “ยกกองทัพกลับไปอยู่แดนของท่าน และท่านกวาดเอาครอบครัวแดนญวนไปไว้เท่าใดขอให้ส่งคืนมาแดนญวน ทางไมตรีจะได้รอบคอบยืนยาวเสมอไป ถ้าท่านไม่ฟังข้าพเจ้าก็ไม่ละ ถ้าองกินเลือกแม่ทัพใหญ่ยกลงมาถึงแล้วก็จะไม่ฟังกัน”

ทว่า พระยาราชสุภาวดีไม่สนใจ รีบยกทัพไปสมทบทัพหลวง เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ เสด็จกลับ พระยาราชสุภาวดีก็ยังอยู่กวาดต้อนผู้คน แต่งตั้งเพี้ยเมืองจันรักษาเมือง ตามหาพระบางจนพบและเชิญลงมากรุงเทพฯ พร้อมเจ้าอุปราช พระอนุชาต่างพระราชมารดาในเจ้าอนุวงศ์ที่เข้ามาร่วมระหว่างสงคราม

ท่าทีอย่างเป็นทางการจากกรุงเทพฯ เกิดขึ้นเมื่อกรมพระราชวังบวรฯ ยกทัพถึงกรุงเทพฯ ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๗๐ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ระบุว่า ในหลวงรัชกาลที่ ๓ ทรงให้ขุนนางมีหนังสือถึงองเลโบ “เรื่องเวียงจันทน์เป็นกบฏ” บอกว่าเจ้าอนุวงศ์หนีไปในแดนญวน สยามเห็นแก่ไมตรีจึงไม่ติดตาม และฝากให้ทูลพระเจ้าเวียดนามตามความดังกล่าว พระบาท-สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังโปรดให้พระยาราชสุภาวดียกทัพไป ทำลายเวียงจันทน์อีก พระองค์กริ้วเพราะจับเจ้าอนุวงศ์ไม่ได้ ทั้งเวียงจันทน์เคยกระด้างกระเดื่องมาแล้ว ๒ ครั้ง “ไม่ควรจะเอาไว้เป็นบ้านเมืองให้อยู่สืบไป ให้กลับขึ้นไปทำลายล้างเสียให้สิ้น…”

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงให้เบาะแสใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ที่ทรงพระนิพนธ์ว่า ที่รัชกาลที่ ๓ กริ้วเนื่องจากคราวเกิดกบฏอ้ายสาเกียดโง้ง เจ้าอนุวงศ์มีความชอบ รัชกาลที่ ๓ ขณะเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ส่งเสริมให้แต่งตั้งเจ้าราชบุตรโย้ พระราชโอรสในเจ้าอนุวงศ์ไปครองจำปาศักดิ์ แต่เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีไม่เห็นชอบ เมื่อรัชกาลที่ ๒ เสด็จฯกลับที่ประทับแล้ว เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีจึงมีรับสั่งในท้องพระโรงว่า

“อยาก จะรู้นัก ใครเป็นผู้จัดแจงเพ็ดทูลให้เจ้าราชบุตรเวียงจันทน์ไปเป็นเจ้าเมืองจำปา ศักดิ์ แต่เพียงพ่อมีอำนาจอยู่ข้างฝ่ายเหนือก็พออยู่แล้ว ยังจะไปเพิ่มเติมให้ลูกมีอำนาจโอบลงมาข้างฝ่ายตะวันออก…ต่อไปจะได้ความ ร้อนใจด้วยเรื่องนี้”

เมื่อเหตุการณ์เป็นไปดังคำพยากรณ์ พระองค์จึงกริ้วกว่ากรณีอื่น

แต่กว่าที่พระยาราชสุภาวดีจะไปถึงพันพร้าวอีกครั้งก็ลุเข้าสู่กลางปี ๒๓๗๑

๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๗๑ เจ้าอนุวงศ์เสด็จฯ กลับถึงเวียงจันทน์พร้อมทหารลาวและเวียดนามจำนวนหนึ่ง ที่น่าสนใจคือเกิดบทสนทนาระหว่างแม่ทัพสยามที่นำทหารส่วนหนึ่งไปอยู่ที่วัด กลางในเวียงจันทน์กับตัวแทนฝ่ายเวียดนามที่มาไกล่เกลี่ย

ทูตเวียดนามกล่าวเปรียบ “สยาม” กับ “เวียดนาม” ว่าเหมือน “บิดา-มารดา” ของเวียงจันทน์

สะท้อนถึงจินตนาการของคนยุคโบราณเกี่ยวกับ “รัฐ” คนละแบบกับโลกยุคปัจจุบันอย่างชัดเจน

และ มีการเสนอว่า “บิดาโกรธบุตรแล้วมารดาต้องพามาขอโทษ…พระเจ้ากรุงเวียดนามได้มีพระ ราชสาสน์ไปขอโทษอนุทางเรือ อนุเคยขึ้นแก่กรุงไทยอย่างไร ญวนก็ไม่ขัดขวาง ญวนต้องเอาธุระด้วยเมืองเวียงจันทน์เคยไปจิ้มก้อง ๓ ปี ครั้ง ๑”

บริเวณ หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำน้ำโขง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย (นรข. หนองคาย) ส่วนหนึ่งเคยเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการตั้งค่ายของกองทัพจากกรุงเทพฯ คราวสงครามเมื่อปี ๒๓๗๐

พระรูป พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ นรข.หนองคาย แม้จะมิได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับเหตุการณ์ในอดีตแต่ก็เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่าครั้งหนึ่งพื้นที่แถบนี้ อยู่ในเขตอิทธิพลของเวียงจันทน์ ในยุคที่ “เส้นเขตแดน” และความคิดเรื่อง “ประเทศ” ยังไม่เกิด

บริเวณ ระเบียงคดที่แล่นล้อมโบสถ์วัดสีสะเกด ปัจจุบันเต็มไปด้วยซากพระพุทธรูปที่ถูกทำลายจากสงครามหลายครั้ง ที่นี่เคยเป็นที่ตั้งกองทหารสยาม เมื่อคราวโจมตีเวียงจันทน์ครั้งสุดท้าย

ภาพลาย เส้นของ หลุยส์ เดอลาปอร์ต (Louis Delaporte) ขณะร่วมเดินทางกับคณะสำรวจแม่น้ำโขงของฝรั่งเศส เมื่อปี ๒๔๐๙ – ๒๔๑๑ เผยให้เห็นระเบียงคดแล่นล้อมโบสถ์วัดสีสะเกด ที่ถูกทิ้งร้างในเวียงจันทน์ซึ่งเต็มไปด้วยพระุพุทธรูปเสียหายจำนวนมาก ภาพนี้เขียนขึ้นหลังสงครามครั้งสุดท้ายกับสยามผ่านมาแล้ว ๓๘ ปี ข้อความส่วนหนึ่งระบุว่า “ทำให้นึกถึงการทำลายล้างอย่างเบ็ดเสร็จ” (โดยกองทัพสยาม) (ภาพจากหนังสือ A Pictorial Journey on the Old Mekong, White Lotus Press, 2006)

เจ้า หน้าที่ นรข.หนองคาย ลาดตระเวนพรมแดนไทยบริเวณแม่น้ำโข่ง ที่ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเวียงจันทน์ พวกเขาทราบดีว่าความสัมพันธ์ไทย-ลาวนั้น มีปมขัดแย้งมากโดยเฉพาะกรณีเจ้าอนุวงศ์ พวกเขาแสดงความเป็นมิตรด้วยการเปลี่ยนสีเรือ เปลี่ยนชื่อหน่วยให้เป็นมิตรมากขึ้น เพื่อความสัมพันธ์อันดีของ ๒ ประเทศในโลกสมัยใหม่

การต่อสู้ครั้งสุดท้ายของเจ้าอนุวงศ์

ต้นฤดูแล้ง พุทธศักราช ๒๕๕๑

ผมอยู่ที่ค่ายของหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำน้ำโขง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย

เกือบ ๒ ศตวรรษก่อน บริเวณที่ผมยืนอยู่นี้อาจเป็นจุดหนึ่งที่พระยาราชสุภาวดียืนรอฟังข่าวจากกอง กำลังที่ส่งไปเวียงจันทน์ ก่อนที่ท่านจะเห็นทหารสยามราว ๔๐-๕๐ คนว่ายข้ามน้ำหนีตายกลับมา

ทั้ง นี้ก็เพราะจู่ ๆ ในวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๗๑ สถานการณ์ก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อเจ้าอนุวงศ์ตัดสินพระทัยทำลายกองทหารสยามที่วัดกลางในเวียงจันทน์ ทำให้พระยาราชสุภาวดีจำต้องถอนกำลังกลับไปตั้งหลักที่ยโสธรและร้อยเอ็ด ปล่อยให้ทหารฝ่ายเจ้าอนุวงศ์บุกทำลายเจดีย์ปราบเวียง และทัพของเจ้าราชวงศ์ติดตามทัพสยามไปอย่างกระชั้นชิด จนเกิดรบขั้นตะลุมบอนที่ทุ่งบกหวาน (หนองคาย)

ปัจจุบัน พื้นที่ส่วนหนึ่งของค่ายพันพร้าวอยู่ในเขตกองบัญชาการหน่วยเรือรักษาความสงบ เรียบร้อยตามลำน้ำโขง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย (นรข. หนองคาย) ซากเจดีย์ปราบเวียงและวัดที่พงศาวดารระบุว่ามีจารึกประจานเจ้าอนุวงศ์ และเคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตก่อนถูกอัญเชิญไปกรุงธนบุรี ยังคงปรากฏที่ริมน้ำ

หน้า เจดีย์มีป้าย “พระสถูปเจดีย์พระแก้วมรกต” ส่วนหน้าวัดมีป้าย “วัดพระแก้วเดิม (วัดศรีเชียงใหม่)” และมีศิลาทรายชื่อ “ศิลาจารึกวัดหอพระแก้ว” ตั้งอยู่ ที่น่าประหลาดคือมีพระรูปสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ ๑ ซึ่งชาวบ้านแถบนี้ให้ความนับถือโดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นกษัตริย์ลาวหรือไทย ประดิษฐานอยู่ด้วย

นาวา เอก บรรพต เนตรกระจ่าง ผู้บังคับการ นรข. หนองคาย เล่าว่า นรข. หนองคายตั้งขึ้นเพื่อป้องกันภัยคุกคามสมัยสงครามเย็นอยู่ที่นี่มาตั้งแต่ปี ๒๕๑๓ ที่ดินที่ตั้งวัดและเจดีย์อยู่ในความดูแลของกรมการศาสนา โดย นรข. หนองคายเช่าที่ดินและรับหน้าที่บำรุงรักษา เปิดให้ประชาชนทั่วไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้โดยไม่ถือเป็นเขตหวงห้าม

“ก่อน เรามาตรงนี้เป็นวัดร้าง ถ้าย้อนไปในสมัยอดีตตรงนี้เคยเป็นจุดยุทธศาสตร์ ด้านเหนือที่ติดกับแม่น้ำโขงจะเห็นเกาะกลางน้ำเรียกดอนจัน ในหน้าแล้งบางทีน้ำลดจนข้ามไปเวียงจันทน์ได้สะดวก”

อย่าง ไรก็ดี ท่านผู้บังคับการยอมรับว่าการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเจดีย์และวัดแห่ง นี้คงทำไม่ได้มาก เพราะนโยบายของรัฐบาลคือรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ ทว่าประวัติโบราณสถานแห่งนี้กลับไปเกี่ยวพันกับสงครามไทย-ลาวในอดีตซึ่ง ละเอียดอ่อนต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างยิ่ง

ย้อนกลับไปที่สถานการณ์สู้รบในปี ๒๓๗๑

ถึง แม้จะเป็นฝ่ายรุกไล่ แต่ในที่สุดเจ้าราชวงศ์ก็ต้องถอยทัพกลับเวียงจันทน์เมื่อประเมินกำลังแล้วพบ ว่าตกเป็นรอง ทำให้เจ้าอนุวงศ์ตัดสินพระทัยเสด็จลี้ภัยการเมืองในเวียดนามอีกครั้ง

ปลาย เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๓๗๑ ทัพสยามได้บุกเข้าทำลายเวียงจันทน์เป็นครั้งที่ ๓ ครั้งนี้เองส่งผลให้เวียงจันทน์สิ้นสภาพเมืองอย่างสิ้นเชิง

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ระบุว่า “ทำลายบ้านเมืองเสียให้สิ้น เว้นไว้แต่วัดเท่านั้น” และกวาดต้อนคนทั้งหมดเพื่อ “ตัดรอนผ่อนกำลังอนุเสียให้สิ้น” ประวัติศาสตร์ลาว ให้ภาพชัดขึ้นอีกว่าสยาม “…ตัดต้นไม้ลงให้หมดไม่ผิดกับการทำไร่ แล้วเอาไฟเผา…พระพุทธรูปหลายร้อยหลายพันองค์ถูกไฟเผาจนละลายกองระเนนระนาด อยู่ตามวัดต่าง ๆ วัดในนครเวียงจันทน์เหลือเพียงวัดเดียวที่ไม่ถูกไฟไหม้คือวัดสีสะเกด…” อันเป็นที่ตั้งของกองทหารสยาม

ข้ามแม่น้ำโขงไปเที่ยวเวียงจันทน์ จะพบว่าร่องรอยความทรงจำเหล่านี้ยังมีอยู่

ที่ วัดสีสะเกด บริเวณขอบประตูเข้าสู่ระเบียงคดที่แล่นล้อมตัวโบสถ์ทั้ง ๔ ทิศ ยังปรากฏศิลาจารึกประวัติของวัด (ที่ถูกฝังเอาไว้ในเสาประตูด้านหนึ่ง) ระบุอย่างชัดเจนว่าวัดนี้สร้างโดยเจ้าอนุวงศ์ และตลอดระเบียงคดนั้นเต็มไปด้วยพระพุทธรูปชำรุด ๑๐,๑๓๖ องค์ที่เสียหายจากสงครามในอดีต

อีกฝั่งถนนคือพิพิธภัณฑ์หอพระแก้ว ซึ่งในอดีตเคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต

ใน ความทรงจำของคนลาว บ้างเล่าว่าหอพระแก้วถูกทำลายจากสงครามและขณะนี้พระแก้วมรกตไปอยู่ “ต่างประเทศ” บ้างก็ว่ากองทัพที่บุกมาทำลายคือทัพสยาม เรื่องนี้ไม่ปรากฏในแบบเรียนไทย และคนไทยก็อาจไม่ทราบว่าลาวได้บรรจุเนื้อหานี้ไว้ในตำราเรียนชั้นมัธยมฯ ละเอียดยิบ แถมยังมีการเผยแพร่ตามสื่อต่าง ๆ เป็นระยะเพื่อสร้างความรู้สึกชาตินิยม

ไม่ต่างอะไรกับการที่คุณครูในโรงเรียนไทยพร่ำบอกลูกศิษย์ว่า “พม่าเผากรุงศรีอยุธยา”

นัก ประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่า ส่วนหนึ่งของเส้นทางลี้ภัยน่าจะอาศัยถ้ำต่างๆ ด้วย เพราะตอนกลางของลาวเต็มได้วยภูเขาหินปูนและถ้ำจำนวนมาก ในภาพคือถ้ำนางลอด เมืองไซบัวทอง อยู่ห่างมหาชัยกองแก้วไปทางตะวันออกราว ๓๐ กิโลเมตร

ภูเขา ที่เห็นเบื้องหน้าคือที่ตั้งของ “ถ้ำเจ้าอนุ” อยู่บนเทือกเ้ขาสูงใกลเมืองไชสมบูน ที่ตั้งอยู่ในอดีตเขตพิเศษไชสมบูน ลึกเข้าไปในเขตป่าเขายังมีการสู้รบระหว่างชนเผ่าม้งกับทหารลาว เดินทวนแม่น้ำจ้าขึ้นไป สายน้ำจะพาเราไปถึงปากถ้ำเจ้าอนุ

ภาพ มุมกว้างอีกมุมหนึ่งของเมืองไชสมบูนที่ตั้งอยู่ในอดีตเขตพิเศษ (เขตประกาศกฎอัยการศึก) ของ สปป.ลาว ทุกวันนี้เป็นเมืองเล็กๆ ในหุบเขาที่ยังถูกควบคุมโดยกองกำลังทหารของรัฐบาลอย่างเข้มงวด เพราะความขัดแย้งกับชนเผ่าม้งในพื้นที่ยังไม่ยุติโดยสมบูรณ์

เสด็จลี้ภัยครั้งสุดท้ายที่เชียงขวาง

พระ ชะตาของเจ้าอนุวงศ์หลังเสด็จฯ ออกจากเวียงจันทน์ลำบากลำบนเพียงใด พงศาวดารมิได้ให้รายละเอียด เรารู้เพียงว่าขณะนั้นพระองค์มีพระชนมายุ ๖๐ พรรษาแล้ว พงศาวดารระบุเพียงว่าทัพสยามจับพระญาติวงศ์ในเจ้าอนุวงศ์บางส่วนได้ในวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๗๑ จากนั้น ๒๑ พฤศจิกายน ขุนนางของเจ้าน้อยผู้ครองเมืองพวน (เชียงขวาง)
ส่งสาส์นแจ้งแก่เจ้าพระยาราชสุภาวดีที่เวียงจันทน์ว่าเจ้าน้อยแต่งกองทัพ ออกลาดตระเวน และขอว่า “อนุหนีขึ้นไปจะจับส่งให้มิให้หนีไปได้ ขออย่าให้กองทัพกรุงยกติดตามเข้าไปในเขตแดนเมืองพวนเลย ไพร่บ้านพลเมืองจะสะดุ้งสะเทือนไป”

หลัง จากนั้นไม่กี่วัน เจ้าพระยาราชสุภาวดีก็ได้รับแจ้งว่าพบเจ้าอนุวงศ์แล้ว โดยเจ้าน้อย “ให้คนพิทักษ์รักษาอยู่ ๕๐ คน แล้วขอให้แต่งคนขึ้นไปจับเอาโดยเร็ว”

จน วันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๓๗๑ ก็จับได้โดย “พระลับและนายหนานขัตติยะ เมืองน่าน ท้าวมหาพรหม เมืองหลวงพระบาง” นำมาส่งที่ค่ายหลวง แต่เจ้าราชวงศ์หลบหนีไปได้

ระราชปวัตของสมเด็ดพระเจ้าอะนุวงส์ฯ ระบุจุดสุดท้ายที่เจ้าอนุวงศ์ถูกจับว่า “อยู่น้ำไรตีนภูคังไข” ส่วน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ เล่าว่าจับเจ้าอนุวงศ์ได้ที่ “น้ำไฮเชิงเขาไก่”

ผม ไม่พบชื่อสถานที่ดังกล่าวในแผนที่ลาวปัจจุบันเลย จนทราบจาก ดร. สุเนด โพทิสาน อดีตผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของลาว ซึ่งปัจจุบันได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยมหาสารคามมาเป็นอาจารย์พิเศษที่สถาบัน วิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสานว่า

“ลองไปที่ถ้ำจ้า เมืองไซสมบูน นั่นคือจุดที่เจ้าอนุวงศ์ถูกจับ”

ไม่คิดว่าประโยคนี้จะพาผมเข้าไปในเมืองที่ “ลึกลับ” ที่สุดแห่งหนึ่งของลาว

เมือง ที่ว่าคือ ไซสมบูน ที่ทางการลาวเพิ่งยกเลิกสถานะ “เขตพิเศษ” (เขตบังคับใช้กฎอัยการศึก) ไปเมื่อปี ๒๕๕๐ และบนแผนที่ท่องเที่ยวปรากฏชื่อ “ถ้ำเจ้าอนุ”

ทาง ไปไซสมบูนช่วง ๑๐๐ กิโลเมตรแรกจากเวียงจันทน์เป็นเส้นทางเดียวกับที่นักท่องเที่ยวใช้เดินทางไป วังเวียงและหลวงพระบาง แล้วแยกจากทางหลักที่บ้านท่าเรือเหนือเขื่อนน้ำงึม โดยพุ่งไปทางตะวันออกราว ๑๐๐ กิโลเมตร ผ่านเขตภูเขาสูงซึ่งเป็นที่ตั้งของภูเบี้ย ภูเขาสูงที่สุดของลาว

ถนน ลูกรังพาเราผ่านเขตป่าเขา ผ่านเหมืองภูเบี้ย เหมืองทองคำที่อยู่ระหว่างขุดแร่อย่างคึกคัก ผ่านหมู่บ้านเล็ก ๆ ของชาวม้งนับสิบหมู่บ้าน จนไปถึงเมืองไซสมบูนที่มีขนาดพอ ๆ กับหมู่บ้านเล็ก ๆ ของไทย

ผม และช่างภาพ-บุญกิจ สุทธิญาณานนท์ เป็นชาวต่างชาติเพียง ๒ คนในเมืองที่ทหารและสายลับจับตามอง เมื่อได้รับอนุญาตให้ไปดูถ้ำเจ้าอนุ ซึ่งหน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยวของลาวระบุว่าเปิดให้นักท่องเที่ยวชม โดยมีทหารตามประกบถึง ๗ คน ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายภาพหรือจดข้อมูลใด ๆ ทั้งยังถูกตั้งคำถามถึงการเข้ามาโดยพลการ ซึ่งผมทราบดีว่าถ้าขออนุญาตอย่างเป็นทางการ
คงใช้เวลานับปี

ไกด์ ของเราโดนสอบหาว่าพาคนไทยซึ่งเป็น “ประติการ” (ปฏิกิริยา) เข้ามาในเมือง ผมและช่างภาพถูกริบหนังสือเดินทางไปราว ๒ ชั่วโมง นัยว่าเป็นประกันว่าเราจะไม่ทำอะไรนอกเหนือคำแนะนำของเจ้าหน้าที่

ถ้ำ เจ้าอนุนี้เข้าไปได้โดยเส้นทางลูกรังตอนเหนือของไซสมบูนที่ตัดเข้าไปยังทิว เขาสลับซับซ้อน คนที่นี่บอกว่าเป็นทางไปภูเบี้ยอันเป็น “เขตสับสน” (ยังมีการสู้รบระหว่างทหารลาวกับชนเผ่าม้ง) จากการสังเกตเป็นถ้ำขนาดใหญ่ มีปากถ้ำ ๒ แห่ง ถ้ำแรกเป็นถ้ำตื้น ๆ ส่วนอีกถ้ำหนึ่งนั้นลึก เพดานถ้ำสูง ตามพื้นเต็มไปด้วยถุงขนม ดูเผิน ๆ เป็นสถานที่พักผ่อนของชาวไซสมบูน หน้าถ้ำเป็นท้องนา มีลำธารตื้น ๆ สายหนึ่งชื่อ “น้ำจ้า” ไหลผ่าน สองฟากฝั่งเต็มไปด้วยต้นสาบเสือออกดอกสีม่วงไปทั่วบริเวณ

“นาน มาแล้วมีเรื่องเล่าว่า คนพวนกับคนเวียงจันทน์ที่โดนกวาดต้อนไปบางกอกพูดเสียดสีกันว่าลูกหลานเจ้า น้อยเมืองพวนขายชาติ” อาจารย์นูเล่าความทรงจำเกี่ยวกับการจับกุมเจ้าอนุวงศ์ที่ตกทอดมาถึงคนรุ่น เขาให้ฟัง และสรุปว่าคนลาวรุ่นหลังไม่น่าจะเคยได้ยินเรื่องนี้ แถมนักประวัติศาสตร์ลาวรุ่นหลังยังตั้งคำถามว่าเจ้าน้อยเมืองพวนเป็นคนจับ เจ้าอนุวงศ์หรือไม่

แต่ หากพิจารณาสถานภาพของเมืองพวน (เชียงขวาง) ในช่วงดังกล่าวจะพบว่า การประนีประนอมกับภัยใหญ่ที่มาถึงตรงหน้าอาจเป็นทางออกเดียวในการรักษาเมือง ด้วยพวนนั้นเป็นรัฐที่เล็กเสียยิ่งกว่าเวียงจันทน์หรือหลวงพระบาง มีสถานะเป็น “เมืองสามฝ่ายฟ้า” โดยปรากฏหลักฐานว่าต้องส่งบรรณาการให้แก่รัฐที่ใหญ่กว่าคือ เวียงจันทน์ เว้ และต่อมาคือกรุงเทพฯ

ลองดูใน ประวัติศาสตร์อาณาจักรพวน ที่เจ้าคำหลวงหน่อคำ เชื้อสายกษัตริย์พวนที่ปัจจุบันดำรงชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกา เป็นผู้รวบรวมและตีพิมพ์เป็นภาษาลาวเมื่อปี ๒๕๔๙ เรายังพบสายสัมพันธ์แบบ “ทั้งรักทั้งชัง” ระหว่างเจ้าอนุวงศ์กับเจ้าน้อย ในฐานะกษัตริย์ประเทศราชและพระราชบุตรเขย

เพราะ เจ้าน้อยนั้นครั้งหนึ่งเคยถูกเจ้าอนุวงศ์จับไปไว้ที่เวียงจันทน์ ก่อนที่ต่อมามีความชอบได้อภิเษกกับพระราชธิดาองค์หนึ่งในเจ้าอนุวงศ์ สายสัมพันธ์นี้ทำให้ในช่วงสงครามปี ๒๓๖๙ เจ้าน้อยได้ทรงอุปถัมภ์พระญาติวงศ์ในเจ้าอนุวงศ์บางส่วนไว้ที่เมืองพวน ทว่าครั้งหลังนี้เหตุการณ์ได้บีบให้เจ้าน้อยจำต้องช่วยเหลือกรุงเทพฯ อย่างเลี่ยงไม่ได้เพื่อรักษาเมืองไว้ แม้ว่าเจ้าอนุวงศ์จะทรงเป็นพระสัสสุระ (พ่อตา)ของพระองค์ก็ตาม

ใน นครหลวงเวียงจันทรน์มีถนนหลายสายที่ตั้งชื่อตามกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ “ถนนเจ้าอนุ” ก็เป็นถนนสายหนึ่งที่ยืนยันถึงความเคารพวีรกษัตริย์พระองค์นี้ของคนลาว

พระ ธาตุหลวงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเวียงจันทน์ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยว สำคัญ ในวันที่การท่องเที่ยวสร้างเม็ดเงินให้แก่ลาวมหาศาล น่าสนใจว่านักท่องเที่ยวที่ไปเยือนโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวไทย ส่วนใหญ่ไม่เคยรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าอนุวงศ์เลย

วาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ

ที่บางกอกเมื่อการกู้ “เอกราช” ล้มเหลว ผลที่ตามมาคือเจ้าอนุวงศ์ทรงประสบชะตากรรมอันแสนสาหัส

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ บรรยายอย่างละเอียดยิบว่า เจ้าอนุวงศ์ถูกทรมานตั้งแต่ถูกส่งมาถึงสระบุรี พระยาพิไชยวารีที่รับหน้าที่ควบคุม “ก็ทำกรงใส่อนุตั้งประจานไว้กลางเรือ” ส่งล่องแม่น้ำเจ้าพระยาลงมาจนถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๓๗๑

จาก นั้นโปรดให้นำตัวเจ้าอนุวงศ์ไป “จำไว้ทิมแปดตำรวจ บุตรหลานผู้หญิงและภรรยาน้อยนั้นก็ส่งไปเป็นชาวสะดึงทั้งสิ้น แล้วรับสั่งให้ทำที่ประจานลงที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ทำเป็นกรงเหล็กใหญ่สำหรับใส่อนุ มีรั้วตารางล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน มีกรงเหล็กน้อย ๆ สำหรับใส่บุตรหลานภรรยาอนุถึง ๑๓ กรง มีเครื่องกรรมกรณ์คือ ครก สาก สำหรับโขลก มีเบ็ดสำหรับเกี่ยวแขวน มีกระทะสำหรับต้ม มีขวานสำหรับผ่าอก มีเลื่อยสำหรับเลื่อยไว้ครบทุกสิ่ง แล้วตั้งขาหย่างเสียบเป็นเวลาเช้า ๆ…”

รุ่ง เช้าจึงมีการนำตัวเจ้าอนุวงศ์ เจ้าราชบุตรโย้ และพระญาติวงศ์มาไว้ในกรง “ให้นางคำปล้องซึ่งเป็นอัครเทพีถือพัดกาบหมาก เข้าไปนั่งปรนนิบัติอยู่ในกรง ให้นางเมียน้อยสาว ๆ ซึ่งเจ้าพระยาราชสุภาวดีส่งลงมาอีกครั้งหลังนั้นแต่งตัวถือกะบายใส่ข้าวปลา อาหารออกไปเลี้ยงกันที่ประจาน”

ทั้ง ยังบรรยายว่ากระทำกันกลางแจ้งให้ราษฎรชายหญิงมุงดู จนคนที่ญาติถูกเกณฑ์ไปเสียชีวิตในสงครามพากัน “นั่งบ่นพรรณนาด่าแช่งทุกวัน ครั้นเวลาบ่ายแดดร่มก็เอาบุตรหลานที่จับได้มาขึ้นขาหย่างเป็นแถวกันให้ร้อง ประจานโทษตัว”

สถานที่ที่เจ้าอนุวงศ์ถูกทรมานปัจจุบันคือลานหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาทที่ตั้งอยู่ในกำแพงพระบรมมหาราชวังฝั่งตะวันออก

พระ ที่นั่งองค์นี้สร้างสมัยรัชกาลที่ ๑ ทำด้วยไม้ทั้งองค์ สันนิษฐานว่าสร้างตามแบบพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์บนกำแพงพระราชวังกรุง ศรีอยุธยา ถูกรื้อครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๓ โดยยกยอดปราสาทและก่อใหม่ด้วยอิฐเพื่อเป็นที่ประทับของกรมสมเด็จพระศรีสุลา ลัย พระบรมราชชนนีในรัชกาลที่ ๕ โดยได้รับพระราชทานนามว่า “สุทธาสวรรย์” ถึงรัชกาลที่ ๔ จึงมีการบูรณะอีกครั้งและได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “พระที่นั่งสุทไธสวรรย์” เป็นหนึ่งใน “หมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์” หมู่เรือนหลวงและอาคารแบบยุโรปที่รัชกาลที่ ๔ โปรดให้สร้างไว้ในสวนขวาเพื่อรับแขกบ้านแขกเมือง

ตรง นี้เองที่พงศาวดารไทยและลาวซึ่งแม้จะจัดเป็นหลักฐานชั้นรอง ด้วยแต่งขึ้นหลังเหตุการณ์หลายปี ต่างก็เล่าตรงกันว่าหลังถูกทรมาน ๗-๘ วัน เจ้าอนุวงศ์ขณะมีพระชนมายุ ๖๐ พรรษาได้ “ป่วยเป็นโรคลงโลหิตก็ตาย โปรดให้เอาศพไปเสียบประจานไว้ที่สำเหร่”

เป็น ฉากสุดท้ายของเจ้าอนุวงศ์ กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้างร่มขาวเวียงจันทน์องค์สุดท้าย ที่เผชิญฉากจบด้วยความตายท่ามกลางเกมอำนาจของ ๒ อาณาจักรใหญ่ เป็นฉากสุดท้ายที่ไม่ต่างอะไรกับชะตากรรมของเจ้าน้อยเมืองพวน ซึ่งต่อมาถูกกษัตริย์เวียดนามสั่งประหารชีวิตเนื่องจากช่วยกองทัพสยามจับ เจ้าอนุวงศ์

เป็นฉากสุดท้ายที่ต่างจากความพยายามของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในการนำอยุธยาหลุดจากอำนาจของหงสาวดีได้เป็นผลสำเร็จ

ผม จินตนาการไม่ออกว่า ถ้าเจ้าอนุวงศ์ทำสำเร็จจะเกิดอะไรขึ้น และกลับกัน ถ้าพระนเรศวรล้มเหลวและโดนพระเจ้านันทบุเรงกระทำเช่นนี้จะเกิดอะไรขึ้น

นอกจากจุดจบของกษัตริย์เวียงจันทน์แล้ว เรายังพบฉากอื่น ๆ ที่ไม่ถูกระบุไว้ในแบบเรียนประวัติศาสตร์สำนักชาตินิยมมาก่อน

เรา จะพบชะตากรรมกษัตริย์กัมพูชาหลายพระองค์ที่เจริญพระชนมายุในราชสำนักสยาม ถูกส่งกลับไปครองอาณาจักรและเผชิญความแตกแยกในกลุ่มขุนนางที่ฝักใฝ่เวียดนาม และสยาม

เรา จะพบชะตากรรมกษัตริย์เมืองเชียงรุ่ง เชียงใหม่ หลวงพระบาง ที่ต้องส่งเชื้อพระวงศ์มาเป็น “องค์ประกัน”ความจงรักภักดี เมื่อเสด็จสวรรคต เชื้อพระวงศ์ก็กลับไปครองราชย์ในกำกับของสยามและเผชิญเกมการเมืองระหว่างรัฐ มหาอำนาจ

เรา จะพบชะตากรรมขององเชียงสือ ที่มาพึ่งกรุงเทพฯ และกลับไปตั้งตนเป็นใหญ่ในเวียดนาม ปราบดาภิเษกเป็น “พระเจ้าเวียดนามยาลอง” ไม่ส่งบรรณาการให้สยามอีกต่อไปในฐานะผู้ครองอาณาจักรที่มีอำนาจทัดเทียม แต่สามารถเก็บส่วย อ้างอำนาจ และเป็นที่พึ่งให้แก่กษัตริย์เวียงจันทน์อันเป็นอาณาจักรเล็กกว่า โดยที่กษัตริย์เวียงจันทน์พระองค์นั้นเคยใช้ชีวิตอยู่เมืองบางกอกร่วมยุค สมัยเดียวกับพระองค์

สงคราม ครั้งนี้ยังเป็นเหตุให้เกิดการรบระหว่างกรุงเทพฯ-เว้ เป็นระยะเวลายาวนาน ก่อนจะสงบลงก็เมื่อฝรั่งเศสเข้ามาล่าอาณานิคมแถบนี้ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทำให้รัฐต่าง ๆ ต้องปรับตัว ปรับระบบรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว อันเป็นเหตุให้เกิด “เส้นเขตแดน” และ “ประเทศ” ที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ตามมา

ผล จากศึกเจ้าอนุวงศ์ยังหลงเหลืออยู่จนทุกวันนี้ ที่เห็นชัดที่สุดคือกลุ่มคนหลากชาติพันธุ์ในภาคอีสานซึ่งถ้ายึดตามแบบเรียน ประวัติศาสตร์ชาตินิยมมักมีคำอธิบายว่า คนเหล่านี้อพยพมา “พึ่งพระบรมโพธิสมภาร” โดยละม่อม ทว่าวันนี้ผมพบข้อมูลอีกด้านว่าอาจไม่เป็นเช่นนั้น ด้วยหลังศึกเจ้าอนุวงศ์ สยามเทครัวจากเมืองฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงรวมถึงเมืองฝั่งขวาแม่น้ำโขงที่อยู่ใน อำนาจของเวียงจันทน์ เพื่อตัดกำลังไม่ให้กบฏได้อีก ถือเป็นการอพยพครัวครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์

อาจารย์ สุวิทย์กล่าวถึงกรณีนี้ว่า “ครึ่งหนึ่งมาตั้งถิ่นฐานในอีสาน อีกครึ่งตั้งถิ่นฐานในภาคกลางและภาคเหนือ ครั้งแรกเกิดจากสยามต้องการลดอำนาจหัวเมืองลาว เมื่อเกิดสงครามกรุงเทพฯ-เว้ก็มีการอพยพอีกเพื่อไม่ให้คนเหล่านี้เป็นกำลัง ของเวียดนาม ผลคือเกิดเมืองในภาคอีสานถึง ๒๐ เมือง สิบสี่เมืองตั้งในสมัยรัชกาลที่ ๓ สี่เมืองตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ สองเมืองตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕”

เราจึงพบคนลาวพวน(คนเชียงขวาง) ลาวเวียง(คนเวียงจันทน์) ชาวผู้ไท(ตั้งถิ่นฐานอยู่ตรงพร

——–

This article comes from Sarakadee สารคดี
http://www.sarakadee.com/web

The URL for this story is:
http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=932

————

พระครูโพธารามพิทักษ์ (หลวงพ่อเขียน)เจ้าอาวาสวัดบ้านโบสถ์ และเจ้าคณะอำเภอโพธาราม นักปราชญ์ชาวบ้านผู้ศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ลาวเวียง และได้เก็บรวบรวมมรดกทางวัฒนธรรมลาวเวียงไว้มากมาย

คิดมาตลอดเป็นเวลาเกือบเจ็ด สิบปีแล้ว  จากการศึกษาประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของลาวเวียงมานานแล้ว  ทำอย่างไรคนลาวเวยงรุ่นหลังจึงจะเห็นคุณค่าและสืบสานฟื้นฟู รวมทั้งอนุรักษ์สิ่งดีงามเหล่านี้ไว้ได้ พอสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านเลือกและได้จัดทำโครงการขับเคลื่อนภูมิทัศน์ วัฒนธรรมลาวเวียง ในการจัดทำ “หอวัฒนธรรมลาวเวียง”อาตมาจึงให้การสนับสนุนเต็มที่

ในโอกาสปีใหม่ 2553 ท่านพระครูโพธารามพิทักษ์ (หลวงพ่อเขียน)ท่านมีความประสงค์จะมอบศาลาการเปรียญหลังงาม ที่มีคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม ให้เป็นสถานที่เก็บรวบรวม สิ่งของเครื่องใช้ ที่สะท้อนวิถีชีวิตวัฒนธรรมของคนลาวเวียง และเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่แสดงภูมิปัญญา  ศิปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของคนลาวเวียง รวมทั้งการจัดนิทรรศการงานพัฒนาของสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านเลือก

ที่มา นิตยสาร สารคดี ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๒๙๑ เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๒ ที่ว่าด้วย… “องค์ประกัน” ในราชสำนักสยาม แล้วเจ้าอนุวงศ์ประทับแห่งใดเมื่อมาเป็น “องค์ประกัน” ในราชสำนักสยาม ?

และบทสรุปของสารคดีเรื่องดังกล่าวในตอนท้าย น่าสนใจมากครับ

  • นอกจากจุดจบของกษัตริย์เวียงจันทน์แล้ว เรายังพบฉากอื่น ๆ ที่ไม่ถูกระบุไว้ในแบบเรียนประวัติศาสตร์สำนักชาตินิยมมาก่อน
  • เรา จะพบชะตากรรมกษัตริย์กัมพูชาหลายพระองค์ที่เจริญพระชนมายุในราชสำนักสยาม ถูกส่งกลับไปครองอาณาจักรและเผชิญความแตกแยกในกลุ่มขุนนางที่ฝักใฝ่เวียดนาม และสยาม
  • เรา จะพบชะตากรรมกษัตริย์เมืองเชียงรุ่ง เชียงใหม่ หลวงพระบาง ที่ต้องส่งเชื้อพระวงศ์มาเป็น “องค์ประกัน”ความจงรักภักดี เมื่อเสด็จสวรรคต เชื้อพระวงศ์ก็กลับไปครองราชย์ในกำกับของสยามและเผชิญเกมการเมืองระหว่างรัฐ มหาอำนาจ
  • เรา จะพบชะตากรรมขององเชียงสือ ที่มาพึ่งกรุงเทพฯ และกลับไปตั้งตนเป็นใหญ่ในเวียดนาม ปราบดาภิเษกเป็น “พระเจ้าเวียดนามยาลอง” ไม่ส่งบรรณาการให้สยามอีกต่อไปในฐานะผู้ครองอาณาจักรที่มีอำนาจทัดเทียม แต่สามารถเก็บส่วย อ้างอำนาจ และเป็นที่พึ่งให้แก่กษัตริย์เวียงจันทน์อันเป็นอาณาจักรเล็กกว่า โดยที่กษัตริย์เวียงจันทน์พระองค์นั้นเคยใช้ชีวิตอยู่เมืองบางกอกร่วมยุค สมัยเดียวกับพระองค์
  • สงคราม ครั้งนี้ยังเป็นเหตุให้เกิดการรบระหว่างกรุงเทพฯ-เว้ เป็นระยะเวลายาวนาน ก่อนจะสงบลงก็เมื่อฝรั่งเศสเข้ามาล่าอาณานิคมแถบนี้ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทำให้รัฐต่าง ๆ ต้องปรับตัว ปรับระบบรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว อันเป็นเหตุให้เกิด “เส้นเขตแดน” และ “ประเทศ” ที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ตามมา
  • ผล จากศึกเจ้าอนุวงศ์ยังหลงเหลืออยู่จนทุกวันนี้ ที่เห็นชัดที่สุดคือกลุ่มคนหลากชาติพันธุ์ในภาคอีสานซึ่งถ้ายึดตามแบบเรียน ประวัติศาสตร์ชาตินิยมมักมีคำอธิบายว่า คนเหล่านี้อพยพมา “พึ่งพระบรมโพธิสมภาร” โดยละม่อม ทว่าวันนี้ผมพบข้อมูลอีกด้านว่าอาจไม่เป็นเช่นนั้น ด้วยหลังศึกเจ้าอนุวงศ์ สยามเทครัวจากเมืองฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงรวมถึงเมืองฝั่งขวาแม่น้ำโขงที่อยู่ใน อำนาจของเวียงจันทน์ เพื่อตัดกำลังไม่ให้กบฏได้อีก ถือเป็นการอพยพครัวครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์
  • อาจารย์ สุวิทย์กล่าวถึงกรณีนี้ว่า “ครึ่งหนึ่งมาตั้งถิ่นฐานในอีสาน อีกครึ่งตั้งถิ่นฐานในภาคกลางและภาคเหนือ ครั้งแรกเกิดจากสยามต้องการลดอำนาจหัวเมืองลาว เมื่อเกิดสงครามกรุงเทพฯ-เว้ก็มีการอพยพอีกเพื่อไม่ให้คนเหล่านี้เป็นกำลัง ของเวียดนาม ผลคือเกิดเมืองในภาคอีสานถึง ๒๐ เมือง สิบสี่เมืองตั้งในสมัยรัชกาลที่ ๓ สี่เมืองตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ สองเมืองตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕”
  • เราจึงพบคนลาวพวน (คนเชียงขวาง) ลาวเวียง (คนเวียงจันทน์) ชาว “ผู้ไท” (ตั้ง ถิ่นฐานอยู่ตรงพรมแดนลาว-เวียดนาม) ลาวโซ่ง( “ผู้ไทดำ”จากแคว้นสิบสองจุไททางภาคเหนือของลาว) กะเลิง โซ่ แสก ย้อ(ญ้อ) โย้ย และคนนานาชาติพันธุ์ อยู่ใน “ประเทศไทย” ทางภาคอีสาน  คนเหล่านี้แหละที่เป็นผู้สร้างบ้านแปงเมือง เป็นบรรพบุรุษชาวอีสานซึ่งมีวัฒนธรรมร่วมกับคนในประเทศลาวปัจจุบัน